เรื่องราวต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนที่ Covid-19 หรือ 新型コロナウイルス จะแพร่ระบาดในญี่ปุ่น
หลังจากคลอดแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นก็เริ่มนับ Day1 ของการพักฟื้นที่โรงพยาบาล 5 วันสำหรับการคลอดท้องแรกกันได้
(พยาบาลทำตารางกิจกรรมมาให้ตั้งแต่คืนวันที่คลอด… ประหนึ่งเข้าค่ายอะ 555 มีตารางกิจกรรมชัดเจนทุกวัน)
Day1:
ประมาณ 06:30 น. พยาบาลเข้ามาเปิดไฟห้องให้สว่าง おはようございます
หลังจากนั้นก็จะทยอยกันมา มีคนมาวัดไข้ เอาข้าวเช้ามาส่ง มาเช็คว่าเข้าห้องน้ำรึยัง ได้นอนไปกี่ชั่วโมง เข้ามาสอบถามว่าตอนท้องกินวิตามินหรือยาอะไรบ้าง อีกซักพักก็มีคุณป้าแม่บ้านเข้ามาทำความสะอาดห้อง แล้วก็ยังมีบริษัทผลิตนมผงเด็กที่เข้ามาบรรยายสรรพคุณนมและวิธีชงนมวันนั้น เข้ามาทำเสนอผลิตภัณฑ์ด้วย คือเอาง่ายๆว่า อนุญาตให้ญาติมาเยี่ยมหลัง 14:00 น. คือ ช่วงเช้าเนี่ยคุณแม่ก็จะมีกิจกรรมและเจอผู้คนมากมาย เลยไม่ได้นอนพักอยู่ดี lol
ทั้งนี้ตั้งแต่คลอดลูกแล้วเห็นพยาบาลยกตัวลูกขึ้นมา พาไปเช็ดทำความสะอาด แล้วเอาเด็กตาแป๋วๆมาวางข้างๆตัวให้เราได้เชยชมอยู่พักนึงแล้วก็พาลูกเราไปอยู่ใน Baby Room ซึ่งเท่าที่รู้คือเด็กแรกเกิดจะได้กินนมมื้อแรกหลังคลอด 6 ชั่วโมง แล้วก็ได้รับ Vitamin K2 ซึ่งกระบวนการเหล่านี้แม่ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ 555 และได้ยินจากพยาบาลว่าจะพาลูกมาอยู่ด้วยประมาณบ่ายโมง แต่กว่าจะพามาจริงๆก็เกือบบ่ายสองแล้วแหละ
พอพยาบาลพาลูกมาที่ห้องก็จะสอบถามว่าตั้งใจจะให้นมลูกยังไง มี 3 ทางเลือก 1. นมแม่ล้วน 2. นมขวดล้วน 3. นมขวดผสมนมแม่ ก็เลยตอบไปเลยว่าตั้งใจจะให้นมแม่ล้วน พยาบาลก็จะสอนการให้นมลูกทั้งจากขวดและจากเต้า ซึ่งจากขวดก็จะมีเทคนิคการใช้จุกนมที่ตอนนี้มีหลากหลายมาก แบบกลม แบบที่มีด้านนึงแบนๆ คือต้องรู้ว่าจุกนมแต่ละแบบใช้แบบไหน รูระบายอากาศของจุกนมแบบนี้เวลาให้ลูกควรอยู่ตรงไหน
ความยากของแม่มือใหม่คือหาวิธีพาลูกเข้าเต้าไม่ค่อยได้ แล้วลูกก็ปากเล็กจุ๋มจิ๋มน่ารักมาก การจะให้ลูกอ้าปากกว้างอมไปถึงลานนมแม่ได้ทุกครั้งจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลังจากลองให้เข้าเต้าครั้งแรก หัวนมแม่ก็จะเริ่มเยินๆเบินๆ แต่ใจก็คิดว่าเดี๋ยวธรรมชาติมันก็ปรับตัวได้แหละ 555
ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับการให้นมลูกนั้นคือมาเป็นตารางอีกหนึ่งใบ แม่ต้องบันทึกว่าลูกฉี่ อึ กี่โมงบ้าง และให้นมแม่ตอนไหนบ้าง ให้นมขวดไปกี่ ml เวลาไหนบ้าง ซึ่งจริงๆแล้วทางรพ.เซ็ทเวลาให้นมลูกมาแล้ว นั่นคือ ตีหนึ่ง ตีสี่ เจ็ดโมงเช้า สิบโมงเช้า บ่ายโมง สี่โมงเย็น หนึ่งทุ่ม และสี่ทุ่ม วนลูปไปทุกวันตั้งแต่วันแรก ส่วนใหญ่จะโชคดีคือลูกจะตื่นมาอึหรือฉี่ หรือทั้งคู่ประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนเวลาให้นมพอดี ตลอด 5 วันที่โรงพยาบาลคุณลูกก็ค่อนข้างให้ความร่วมมือดี แต่ก็จะมีอาการไม่หลับไม่นอนช่วงตีสอง-ตีห้าอยู่บ้าง
แล้วพอช่วงที่ให้ญาติมาเยี่ยมได้ (14:00-20:00 hrs เท่านั้น) ก็จะไม่ค่อยมีพยาบาลหรือใครมารบกวนเท่าไหร่ มีแค่เวลาเอาอาหารมาให้กินแค่นั้น
อ้อ อีกหนึ่งอย่างคือพยาบาลบอกว่าให้อาบน้ำทุกวันนะคะ (อาบน้ำคืออาบแบบฝักบัวเท่านั้น ห้ามแช่น้ำเด็ดขาด) แต่ถ้ายังมึนๆอยู่ให้รอญาติมาแล้วค่อยอาบน้ำละกันจะได้มีคนอยู่ด้วย
อยากจะบอกว่า Day1 นี่คือปวดก้นและหลังล่างตลอดทั้งวัน หมอเอายาแก้ปวดมาให้กินก็ยังปวดอยู่ คือนอนหงายนานๆไม่ได้ ต้องนอนตะแคงอย่างเดียว
Day2:
วันที่ 2 ก็เริ่มต้นวันประมาณเดิม แต่คืนแรกลูกยังไม่กวนมาก กินอิ่มนอนหลับ อึฉี่ดี เช้ามาก็เจอพยาบาลมากหน้าหลายตาตามเดิม เข้ามาถามว่าขับถ่ายเป็นยังไง กินอาหารได้ดีไหมประมาณไหน สภาพหน้าอกเป็นยังไง ต้องการความช่วยเหลืออะไรรึเปล่า แต่ที่มีเพิ่มเติมตามตารางของวันนี้คือตรวจภาวะเลือดจางของแม่ และใช่ค่ะพอเจาะเลือดไปไม่นาน คุณหมอที่ดูแลครรภ์ก็เข้ามาบอกว่าคุณแม่มีภาวะเลือดจางนะคะ จะจ่ายยาให้ (ค่าาาาาา ถึงว่าลุกเดินทีไรมึนหัวทุกที รู้สึกเหมือนหายใจไม่เต็มปอดมาสองวันละ) แล้วก็ยังมีตรวจแผลและฝีเย็บเบื้องต้นในห้องพักฟื้นด้วย
ซึ่งคุณแม่มีหน้าที่แบ่งเวลาให้นมลูกสลับกับให้เหล่าพยาบาลและหมอที่พาเหรดมาตรวจอาการ พร้อมกับฟังคำแนะนำต่างๆ เช่น ถ้าเข้ามาตรวจแล้วมีปัญหาอะไร ก็จะแจ้งอธิบายและให้คำแนะนำว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรหรือทายาอะไรยังไง
สำหรับอาการของตัวเองในวันนี้ก็ยังคงปวดก้นและหลังล่างคล้ายๆ Day1 ที่หมอเอายาแก้ปวดมาให้ก็ยังปวดอยู่ และนอนหงายไม่ได้
Day3:
ช่วงเช้าก็ยังไม่แตกต่างกับวันอื่นๆเท่าไหร่
มีพยาบาลมาอรุณสวัสดิ์ วัดอุณหภูมิ กินอาหารเช้า ให้นมลูก แต่วันนี้ต้องส่งลูกไปตรวจการได้ยินในช่วงเช้าด้วย จริงๆแล้วในแต่ละวันลูกจะต้องชั่งน้ำหนักทุกเช้า วัดไข้ 3 เวลา หกโมงเช้า เที่ยงวันและหกโมงเย็น เพื่อลงบันทึกด้วย
สำหรับวันนี้ยังมีกิจกรรมฟังเกี่ยวกับการชงนม ผลิตภัณ์นมผงตอน 11 โมงด้วย เข้าไปนั่งฟังภาษาญี่ปุ่นหลังสูตรเร่งรัดอีกแล้ว
ส่วนในช่วงบ่ายก็จะสอนอาบน้ำลูก ซึ่งพยาบาลมาสอบถามเรื่องการอาบน้ำลูกว่าสะดวกไหมยังไง สุดท้ายด้วยความเป็นชาวต่างชาติและอยากให้สามีอยู่ด้วย เค้าเลยจัดสอนอาบน้ำแยกให้เป็นการส่วนตัว และคุณสามี Apiwat Tontan Pitaksin ก็เป็นคุณพ่อดีเด่นเป็นคนอาบน้ำให้ลูกค่า (ปรบมือ… แม่เลยยังไม่กล้าอาบให้เลย แค่ให้นมลูกก็ใช้พลังงานในการสู้แรงลูกไม่น้อย เด็กตัวน้อยๆแต่แรงเยอะมากค่า)
และก็เป็นวันที่คุณแม่ต้องโดนไปตรวจภายใน เพื่อดูว่าแผลปิดเรียบร้อยสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ศัลยแพทย์คนเดิมที่เย็บแผลก็เข้ามาตรวจ (และพยายามพูดอังกฤษกับเราว่า I’ll check you wound) แล้วก็บอกว่า 退院できます ออกจากรพ.ได้ พร้อมกับตัดไหม เลยถามหมอว่าเจ็บมากไหมคะ หมอบอกว่าก็เจ็บอะ เจ็บนิดนึง 555 ใช่ค่ะ สิ่งที่กลัวตั้งแต่ตอนถูกเย็บก็มาแล้ว โดนตัดไหมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อะ ฮือออออ เจ็บบบบบ แต่เหมือนตัดไหมแล้วความรู้สึกชาๆหน่วงๆก็ดีขึ้น เดินสะดวกขึ้น ดูเหมือนว่าอาการปวดก้นและหลังล่างจะค่อยๆดีขึ้น ถ้าจำไม่ผิดวันนี้ไม่ได้ขอยาแก้ปวดมากินแล้ว
แล้วตอนก่อนนอนก็มีพยาบาลมาบอกว่าวันรุ่งขึ้นให้เก็บปัสสาวะ เดินไปชั่งน้ำหนักและความดัน ที่ห้องตรวจ 1 ก่อน 07:30 คือก่อนกินข้าวด้วย
Day4:
ตื่นเช้ามา พอดีว่าก็ตื่นเช้ากว่าปกตินิดหน่อยด้วย ก็เลยเก็บปัสสาวะที่ห้องแล้ว พาลูกไปด้วย ตอนชั่งน้ำหนักกับวัดความดัน (คือทั้งหมดนี่ต้องทำเอง เขียนเอง วางในกระบะเอง ไม่มีพยาบาลมาทำให้นะ 555) เสร็จแล้วก็เลยตั้งใจว่าจะพาลูกไปให้นมเลย เพราะวันนี้ลูกต้องตรวจสุขภาพเด็กแรกเกิด โดนเจาะเลือดไปตรวจ metabolism และอื่นๆ ชั่งน้ำหนัก วัดไข้ กิน Vitamin K2 อีกรอบหนึ่ง
วันนี้ก็ไม่มีอะไรพิเศษมากนัก อาจจะเพราะเริ่มชินกับจังหวะชีวิตที่โรงพยาบาลแล้วก็ได้ ช่วงบ่ายๆก็มีพยาบาลเข้ามาแนะนำการออกจากโรงพยาบาล การดูแลตัวเอง การปรับจังหวะชีวิตหลังจากออกจากโรงพยาบาล อธิบายอาการที่คุณแม่และลูกอ่อนอาจจะเจอหลังจากออกโรงพยาบาล และสถานการณ์แบบไหนที่ควรติดต่อมาโรงพยาบาลหรือไปคลินิกกลางคืนเพื่อรักษาเบื้องต้น (เช่น การสังเกตปริมาณเลือดที่ออกทางช่องคลอด สังเกตการปัสสาวะ อุจจาระของตัวเองและของลูก การวัดไข้ลูก ฯลฯ) ซึ่งรายละเอียดหลักๆมีอยู่ในหนังสือคู่มือแล้ว เพียงแค่เป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด (ไม่เป็นไร แม่อ่านแล้ว เปิดดิกหาศัพท์เรียบร้อยเช่นกัน 555)
และคืนสุดท้ายก่อนออกจากโรงพยาบาลก็มีพยาบาลเข้ามาสอบถามอาการภาพรวมรอบสุดท้าย ทั้งเรื่องปริมาณอาหารที่ทานได้ในแต่ละมื้อ การขับถ่ายของแม่ ปัญหาเรื่องนมๆของแม่ (ที่แม่หัวนมแตก เลือดออก ต้องไปหาครีมทาหัวนมมาทา – พยาบาลบอกว่าให้ลงไปซื้อที่ร้านสะดวกซื้อ บอกว่าให้ลงไปที่ร้านแล้วบอกว่า おっぱいのクリム)
Day5:
ตื่นเช้าตามปกติ แต่วันนี้ต้องพาเจ้าตัวเล็กไปส่งที่ Baby Room แต่เช้า เพราะต้องวัดไข้ ชั่งน้ำหนัก ตรวจสุขภาพโดยรวมก่อนให้ออกจากโรงพยาบาล ตอนแรกคิดว่าหลังแม่กินข้าวเช้าให้ไปรับกลับมาได้เลยตามปกติ แต่พอไปถึงบอกว่ายังไม่ได้ ต้องรอคุณหมอก่อน แม้ว่าจะตรวจดูแล้วว่าสามารถกลับบ้านได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต้องรอหมอมายืนยันอีกที เดี๋ยวยังไงจะประกาศเรียกให้คุณแม่มารับลูกอีกที น่าจะประมาณ 10 โมงเช้า
แม่ก็กลับมาเก็บข้าวเก็บของ แต่งตัวพร้อมสู้อากาศหนาวด้านนอก เตรียมเสื้อผ้าชุดกลับบ้านลูกไว้ให้เรียบร้อย หลังจากนั้นคือนั่งรออย่างเดียว 555 รอจนเบื่อเลย เพราะกว่ารายละเอียดเรื่องการชำระเงินจะมา กว่าเจ้าหน้าที่จะเรียกให้ไปรับลูกที่ Baby Room ได้ก็ปาเข้าไป 10:30 น. ลูกกลับมาก็หิวนมอีก แล้วพยาบาลก็มาแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารการคลอดบุตร การแจ้งเกิดที่สำนักงานเขตญี่ปุ่น รายละเอียดการนัดตรวจสุขภาพหลังคลอด 2 อาทิตย์ (産後2週間健診) และ 1 เดือน(産後1ヶ月健診) ของแม่และบุตร กว่าจะเรียบร้อยได้กลับบ้านก็กลายเป็น 11 โมงกว่าๆไป
แต่ต้องยอมรับว่าตลอด 5 วันหลังคลอดที่โรงพยาบาลทำให้ได้มีเวลาอยู่กับลูกแบบ 24 ชั่วโมง ได้เรียนรู้ธรรมชาติของเขา ได้ฝึกเปลี่ยนผ้าอ้อม ฝึกให้นม ฝึกแบ่งเวลาถนอมร่างกายของเราให้ไปสู้กับการตื่นกลางดึกของลูกได้ น่าจะคืนที่สองที่ลูกร้องหนักมากช่วงตีสองถึงตีห้า แล้วแม่ที่เพิ่งคลอดมาอดนอนไปเลย พอพาลูกไปชั่งน้ำหนักที่ Baby Room กลับห้องมา คือแม่จะวูบไปเหมือนกันซึ่งก็น่าจะเป็นเพราะหลายๆปัจจัยรวมๆกัน แต่สำคัญที่ว่าต่อให้อยากจะพยายามดูแลลูกแค่ไหน แต่ก็ต้องอย่าลืมดูแลตัวเอง เพราะถ้าเราไม่รอด เราก็ดูแลใครไม่ได้
สำหรับแพ็กเกจของโรงพยาบาลที่เลือกใช้บริการ ต้องบอกเลยว่าแม้ว่าจะราคาค่อนข้างสูง แต่สิ่งที่ได้รับ ข้อมูล ความรู้ต่างๆ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก โดยที่เราไม่ต้องไปซื้อหนังสือมาอ่านเองเลย แค่นั่งอ่านหนังสือคู่มือการตั้งครรภ์ การคลอด และการเลี้ยงบุตรของโรงพยาบาลนี้ก็ครบจบในเล่มเดียว เพราะมีตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์สัปดาห์แรกยันหลังคลอด รวมทั้งคำแนะนำการวางแผนการมีบุตรคนต่อไปหรือการคุมกำเนิดด้วย ทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ต้องมาอยู่ต่างแดนแบบนี้มีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกเองที่บ้านมากขึ้น และรู้สึกได้ว่าแพ็คเกจและโปรแกรมการตรวจครรภ์และสุขภาพของที่นี่คือการรักษาคุณภาพแบบที่เรียกว่า ถ้าคุณมาคลอดที่โรงพยาบาลนี้จะต้องปลอดภัย สุขภาพแข็งแรง ทั้งแม่และเด็กทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้าน ไม่ใช่แค่คลอดแล้วมีชีวิตรอดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเลี้ยงดูกันและกันให้รอดปลอดภัยด้วย
บทความต่อเนื่อง: แจ้งเกิดฉบับญี่ปุ่นในฐานะคนต่างชาติ