ที่ญี่ปุ่นจะเปิดเทอมแรกประมาณเดือนเมษายน (ฤดูใบไม้ผลิ) และปิดเทอมฤดูร้อนเดือนสิงหาคม เปิดเทอมอีกทีเดือนกันยายน (ฤดูใบไม้ร่วง) โรงเรียนอนุบาลสาธิตก็เช่นกัน หลังจากที่ผ่านการสอบมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อน ในที่สุดเดือนมีนาคมก็ได้รับจดหมาย ระบุวันพิธีเปิดการศึกษามาที่บ้าน เตรียมตัวเปิดเทอมกันจริงๆแล้ว
โรงเรียนนี้จะค่อยๆให้ข้อมูลพ่อแม่ เพราะโรงเรียนมีแพลนของแต่ละปีละเอียดมาก ตอนเปิดเทอมเหมือนให้เห็นภาพรวมคร่าวๆทั้งปีแบบ annual calendar คร่าวๆมาก่อน แล้วต่อไปก็เป็นแบบลงรายละเอียดทีละเดือน ก็เลยเหมือนค่อยๆอัพเดทพ่อแม่เดือนต่อเดือนว่า(พ่อแม่)จะต้องทำอะไรบ้างหรือต้องเตรียมลูกอย่างไรบ้าง
สัปดาห์แรกที่เปิดเทอม วันแรกจะเป็นพิธีเปิดที่ให้ผู้ปกครองมาร่วมงานกับเด็กๆ พอจบพิธีก็กลับบ้าน โดยอาทิตย์นี้จะให้แต่ละคลาสสลับกันมาเรียนก่อน อาทิตย์ถัดไปถึงจะเริ่มให้มาเรียนพร้อมกันทั้งสองคลาส โดยที่ยังเริ่มเรียนแค่ครึ่งวันก่อนไปประมาณ 1 เดือนเพื่อให้เด็กๆ(และผู้ปกครอง)ได้ค่อยๆปรับตัว (เลิกเรียน 11:30 น. ผู้ปกครองต้องมาถึงโรงเรียน 11:25 น. เป็นอย่างช้า)
หลังจากผ่านไป 1 เดือน ก็จะเริ่มให้เรียนเต็มเวลา ต้องเตรียมอาหารกล่อง お弁当 มาให้ลูกทุกวัน แต่ก่อนที่จะเริ่มให้กิน お弁当 ทุกวันก็จะเริ่มจากให้สลับคลาสกันมากินก่อน 1 อาทิตย์ ซึ่งการเรียนเต็มเวลาของที่นี่ (คลาสเด็ก 3 ขวบ) คือเลิกเรียนเวลา 12:45 น.
ตารางกิจกรรมในแต่ละวันของเด็กๆ คลาส 3 ขวบ คือ
09:00-10:00 น. ให้เด็กๆเล่นเสรีตามความชอบ จะเล่นในห้องเรียน (ทำอาหาร แต่งตัว วาดรูประบายสี อ่านนิทาน ฯลฯ) หรือออกไปเล่นนอกห้องถ้าฝนไม่ตก (บ่อทราย สไลเดอร์ บ้านจำลอง วิ่งขึ้นลงเนิน ชมธรรมชาติ ดอกไม้ สวนผักในโรงเรียน หรือ เล่นกับเพื่อนๆพี่ๆห้องอื่นๆ)
10:00-10:40 น. เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านกิจกรรม ค่อยๆให้เด็กเข้าห้องเรียน ล้างมือ ล้างเท้า คนที่เลอะเทอะมากก็ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเอง โดยมีคุณครูคอยช่วยเหลือ
11:00-11:30 น. กิจกรรมในห้องเรียน เก็บของเตรียมกลับบ้าน ฟังนิทาน ร้องเพลง (เตรียมเลิกเรียนในวันพุธ)
หรือ
11:00-12:45 น. กิจกรรมในห้องเรียน พาเด็กๆเตรียมพื้นที่รับประทานอาหารเที่ยง เก็บของเตรียมกลับบ้าน ฟังนิทาน ร้องเพลง
ลูกสาวที่ยังพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ แต่ก็มีความสุขกับการไปโรงเรียนในทุกวัน สนุกสนาน เต็มที่กับทุกกิจกรรม กลับบ้านมาบางวันก็คือเปลี่ยนชุดใหม่มาเลย แล้วแต่ว่าวันไหนจะเปลี่ยนกี่ชุด 55
นอกจากนี้แล้วในแต่ละเดือนจะมีกิจกรรมสำหรับผู้ปกครองด้วย เช่น กิจกรรมแม่ลูก (หรือจริงๆคือใครก็ได้ที่สะดวกมาเล่นกับลูกที่โรงเรียน), ทำความสะอาดโรงเรียน, ช่วยงานโรงเรียน, ประชุมผู้ปกครอง, เข้าสังเกตพฤติกรรมเด็กได้เดือนละ 2 ครั้งตามตาราง, ซ้อมรับเหตุการณ์ฉุกเฉินเดือนละครั้ง, ตรวจสุขภาพลูก ฯลฯ)
สำหรับช่องทางการติดต่อกับทางโรงเรียนหรือช่องทางที่โรงเรียนใช้ติดต่อผู้ปกครองระหว่างภาคการศึกษา หลักๆคือมีเป็น application ภายในของโรงเรียนใช้แจ้งข้อมูลทางโรงเรียนและให้ผู้ปกครองใช้เป็นช่องทางการแจ้งลาเรียนกรณี ขาดเรียน (欠席) มาสาย (遅刻) หรือ มารับก่อน (早退) แต่ถ้ามีแผนจะลาอะไรล่วงหน้าหรือมีอะไรต้องการติดต่ออาจารย์ประจำชั้นโดยเฉพาะต้องเขียนในสมุดติดต่อโรงเรียน หรือ 連絡帳 ให้อาจารย์ที่ปรึกษาล่วงหน้า หากมีเรื่องด่วนหรือจะลาหลังเวลาที่รับแจ้งเรื่องผ่าน application ในแต่ละวันถึงจะใช้การติดต่อทางโทรศัพท์ค่ะ
นอกจากนี้แล้วที่หน้าห้องเรียนกับบอร์ดหน้าโรงเรียนจะมีประกาศมาแปะอัพเดททุกอาทิตย์ ก่อนรับลูกกลับบ้านทุกวัน ต้องมียืนฟังอาจารย์ประจำชั้นพูดว่าวันนี้พาเด็กๆทำกิจกรรมอะไรบ้าง เด็กๆทำอะไรกันบ้าง มีจดหมายถึงผู้ปกครองไหม ผู้ปกครองต้องเตรียมอะไรเพิ่มเติมรึเปล่า พอครูพูดจบถึงจะปล่อยให้เข้าไปรอรับเด็กๆที่หน้าห้องเรียนได้
สำหรับเรื่องการป่วยของเด็กเล็กที่ไปโรงเรียน ขนาดว่าทำใจไว้แล้วว่าลูกเข้าอนุบาลช่วงแรกจะไม่สบายบ่อย แต่ก็จะบ่อยไปไหมลู๊กกกกกกก เป็นหวัดแทบทุกอาทิตย์ อาทิตย์นึงไปโรงเรียนจริงๆแค่ 2 หรือ 3 วันเป็นส่วนใหญ่ 555 เดี๋ยวไข้สูง (38.3 C ขึ้นไป) เดี๋ยวไข้ต่ำ (ต่ำกว่า 38.3 C) คือหาหมอวนไปจริงๆ โชคดีที่เมืองที่อยู่มี support ค่ารักษาพยาบาลเด็กเล็กเพิ่มจากประกันสุขภาพถ้วนหน้า 健康保険 เลยไม่ต้องจ่ายเพิ่มเองอีก ซึ่งก็เลยได้ใช้ application แจ้งลาเรียนเนื่องจากป่วยบ่อยมาก บ่อยจนพิมพ์สั้นลงทุกวันๆ หวังแค่ว่าเปิดเทอมฤดูใบไม้ร่วงจะป่วยบ่อยน้อยลงกว่าเทอมนี้นะลูก
ถ้าพูดถึงภาษาญี่ปุ่นที่ใช้บ่อยช่วงที่ลูกไปโรงเรียนแล้ว… เนื้อหาค่อนข้างกว้างมาก เพราะว่าต้องใช้ทั้งติดต่อเรื่องลูก(พฤติกรรมที่โรงเรียน อาหาร เสื้อผ้า อาการเจ็บป่วย โรคประจำตัว ค่าใช้จ่าย เงินสมทบทุนกองทุนโรงเรียน ฯลฯ) เรื่องกิจกรรมโรงเรียน หรือเพื่อประชุมผู้ปกครอง เพื่อประชุม PTA เรื่องประชุมเฉพาะผู้ปกครองแบบไม่เป็นทางการ ฯลฯ ซึ่งคาดว่าความซับซ้อนทางภาษาก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่พอเป็นต่างชาติบางทีเหล่าอาจารย์ก็จะค่อนข้างใส่ใจมาคุยกับเราต่างหากเป็นพิเศษ เพราะกลัวเราไม่เข้าใจก็มีค่ะ
จริงๆส่วนตัวคิดว่าจำเป็นต้องเรียนหรืออ่านหนังสือเยอะๆเพื่อเตรียมรับมือเหมือนกันค่ะ เพื่อสะสมคำศัพท์และไวยากรณ์ เพราะอาจจะลิสต์ออกมาเป็นประโยคเพื่อเอาตัวรอดแบบไปเที่ยวค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเอกสารของโรงเรียนที่ต้องอ่านเองมีแทบทุกอาทิตย์ซึ่งเป็นภาษาเขียน (ส่วนตัวหาเวลาลงเรียน online ตั้งแต่ลูกอายุประมาณขวบนิดๆ เพื่อเก็บ grammar ถึงประมาณ N2 ที่แบบเอาไว้ใช้อ่านเพื่อคำความเข้าใจแต่น่าจะยังเขียนเองแบบถูกต้องไม่ได้นะคะ เขียนน่าจะอยู่แค่ระดับ N3-N4) ส่วนเรื่องภาษาพูด เคยลงเรียน online แบบ private กับคนญี่ปุ่นอยู่ช่วงหนึ่ง อาจารย์บอกว่าภาษาที่ใช้จริงในชีวิตประจำวันก็ N3-N4 นี่แหละค่ะ ไม่ต้องซับซ้อนไปถึง N1-N2 โดยเฉพาะเวลาเขียนสื่อสารกับอาจารย์ใน 連絡帳 ควรเขียนประโยคให้สั้น กระชับ simple สื่อสารให้เข้าใจง่าย ไม่ต้องเขียนสวยหรู ตอนนั้นอาจารย์ใช้วิธีให้เขียน weekly diary ส่งทุกอาทิตย์แบบไม่ยาวมาก เพื่อปรับรูปประโยค ปรับคำศัพท์ ปรับวิธีคิดเพื่อเขียนให้คนญี่ปุ่นอ่านเข้าใจได้ง่าย ซึ่งเราก็ได้เอามาใช้เขียนสื่อสารกับอาจารย์ประจำชั้นจริงๆ แต่ก่อนจะเริ่มเขียนก็จะมีเสิร์จหารูปแบบประโยคหรือแนวทางการเขียนจากคนญี่ปุ่นด้วยว่า 連絡帳 ควรขึ้นต้นยังไง ซึ่งหลายคนแนะนำว่า ถ้าเพิ่งเขียนไปถึงอาจารย์ประจำชั้นครั้งแรกช่วงเปิดเทอมใหม่ก็ควรเกริ่นเรื่องอื่นก่อนจะเข้าสู่สาระสำคัญ เป็นต้น ไว้ว่างๆจะลองศึกษาเพิ่มเติมแล้วลองทำสรุปมาว่าภาษาญี่ปุ่นที่ควรรู้เบื้องต้นช่วงที่ลูกไปโรงเรียนแล้วมีสาระสำคัญ point ไหนบ้างในบทความถัดไปนะคะ
แต่ถ้าถามว่าเทอมแรกนี้แม่เรียนรู้อะไรบ้าง หรือมีอะไรอยากบอกแม่ๆที่กำลังจะส่งน้องๆเข้าอนุบาลปีถัดๆไปก็ตามนี้เลยค่าาาาา
- ถ้าโรงเรียนไม่มีเครื่องแบบและมีบ่อทรายให้ลูกเล่นที่โรงเรียน ควรจะต้องมีเสื้อผ้าสำรองที่โรงเรียนอย่างน้อย 3 ชุด (เสื้อนอก เสื้อทับ กางเกงใน กางเกง ถุงเท้า) นอกจากที่จะใส่ไปโรงเรียนทุกวันแล้ว ที่สำคัญคือแนะนำเสื้อผ้าสีเข้ม พร้อมเลอะ พร้อมเน่า
- เสื้อผ้าควรเป็นแบบที่เด็กสามารถรู้ได้ว่าด้านไหนด้านหน้า ด้านในด้านหลัง เช่น ลายเสื้ออยู่ด้านหน้า ด้านหลังไม่มีลาย แบบให้ลูกจำได้ง่าย กางเกงก็พยายามเอาแบบที่หลวมๆบานๆหน่อยใส่เองได้ ส่วนกางเกงในบ้านนี้แม่นั่งเย็บโบว์เล็กๆติดให้เหมือนกันทุกตัว เวลาลูกใส่ลูกก็จะดูว่าด้านที่มีโบว์เล็กๆอยู่เป็นด้านหน้าก็จะแต่งตัวเองได้ใส่ไม่ผิดด้านค่ะ
- รองเท้าใส่นอกห้องต้องเป็นแบบหุ้มส้น แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นผ้าใบก็ได้ ถ้าหาแบบยางได้จะทำความสะอาดง่ายมาก เพราะว่าลูกจะใส่รองเท้าลงไปคลุกทราย เล่นโคลน พอเป็นผ้าใบ แม่ก็จะลมจับตอนซักทุกที ยิ่งถ้าไม่ใช่เข้าหน้าร้อนแล้วคือกว่าจะแห้งต้องวางแผนดีๆ
- รองเท้าใส่ในห้องเรียนหรือ 上履き ส่วนใหญ่โรงเรียนมักจะขอให้เป็นสีขาว ซึ่งแต่ก่อนจะมีแบบผ้าขายเยอะ เดี๋ยวนี้มีแบบไวนิลแล้ว แนะนำแบบไวนิลเลยค่ะ ซักง่าย แห้งไว แถมระหว่างสัปดาห์ถ้าเลอะแล้วก็จะดูไม่มอมแมมมาก
- คู่มือบอกว่าให้หารองเท้าที่สามารถแยกข้างซ้ายข้างขวาได้ง่าย ตอนแรกแม่ก็ไม่รู้จะหายังไง จนเปิดเทอมแล้วมีประชุมผู้ปกครองออนไลน์ คุณครูแนะนำว่าให้หาพื้นรองเท้าที่เอาสองข้างมาประกบกันแล้วเป็นรูป (คล้ายๆต้องต่อจิ๊กซอ ต้องวางข้างขวาข้างซ้ายให้ถูกก่อนถึงจะเป็นรูป) ซึ่งคุณครูบอกว่าอาจจะหายากหน่อย แต่ถ้าใครหาได้ก็แนะนำ แม่เลยไม่ได้หา แต่คุยกับลูก ว่าวาดรูปอะไรดี มาจบที่รูปหัวใจ เลยเอาปากกากันน้ำวาดรูปหัวใจครึ่งซีกไว้ตรงกลางของรองเท้า พอเอาสองข้างมาประกบกันจะเป็นรูปหัวใจ ลูกก็จะใส่รองเท้าไม่ผิด ก็เลยทำแบบนี้ให้ถูกคู่เลย ก่อนใส่รองเท้าลูกก็จะดูว่าเป็นรูปหัวใจรึยัง
- ส่วนใหญ่ช่วงหน้าร้อนโรงเรียนจะมีกิจกรรมให้เล่นน้ำ 水遊び (ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่ายน้ำ 水泳) แต่ต้องใส่ชุดว่ายน้ำ ส่วนใหญ่มักจะขอเป็นชุดแบบเรียบๆไม่ตกแต่งใดๆ และเป็นแบบ one piece ทั้งชายและหญิง แบบที่เด็กๆใส่และถอดเองได้ง่าย ถ้าใครเล็งๆจะซื้อชุดว่ายน้ำให้ลูกแล้วไม่อยากซื้อหลายชุดก็ลองเช็คกับทางโรงเรียนก่อนหรือเลือกแบบเรียบๆไม่ผูกเชือก ไม่โบว์ ไม่กระโปรง ฯลฯ ดูนะคะ
- เทอมแรกเตรียมรับมือเด็กป่วย (และแม่ก็จะป่วยด้วย เป็นส่วนใหญ่) อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้งหรือสัปดาห์เว้นสัปดาห์ไว้ได้เลยค่ะ
- ถ้าเข้า 幼稚園 หรือโรงเรียนอนุบาล (ที่ไม่ใช่ 保育園 หรือสถานฝากเลี้ยงเลี้ยง) มักจะมีกิจกรรมให้ผู้ปกครองประมาณหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ผู้ปกครองไม่ค่อยมีเวลาว่างไปทำเรื่องตัวเองเท่าไหร่ กว่าจะปรับตัวเข้าที่เข้าทางก็จะปิดเทอมพอดี…