ลงทะเบียนคนละครึ่ง หรือใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืน 2563 ดีกว่า ใครยังสงสัยว่า 2 มาตรการนี้แตกต่างกันอย่างไร โดยเราสามารถเลือกเข้าร่วมได้เพียง 1 มาตรการเท่านั้น
คนละครึ่ง
ใครใช้สิทธิ์ได้บ้าง ?
- มีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นบุคคลสัญชาติไทย
- อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน
- ไม่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ลงทะเบียนเมื่อไร ?
- ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ www.คนละครึ่ง.com เริ่มวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เวลา 06.00-23.00 น.
- จำกัดจำนวน 10 ล้านสิทธิ์
- เริ่มใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 เวลา 06.00-23.00 น.
- ต้องใช้สิทธิ์ภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ได้รับ SMS แจ้งรับสิทธิ์ หรือวันที่เปิดให้เริ่มใช้จ่ายตามโครงการ มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ และไม่สามารถลงทะเบียนใหม่ได้
สิทธิประโยชน์และเงื่อนไข
- รัฐบาลจะช่วยจ่ายค่าซื้อสินค้าให้ 50% ของมูลค่าสินค้า แต่ไม่เกินวันละ 150 บาทต่อวันต่อคน และตลอดทั้งโครงการให้สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ยกตัวอย่าง หากซื้อสินค้าจำนวน 300 บาท เราจ่ายเอง 150 บาท รัฐบาลจ่ายให้ 150 บาท หรือกรณีที่ซื้อสินค้า 400 บาท เราต้องจ่ายเอง 250 บาท รัฐบาลจ่ายให้ 150 บาทต่อวันเท่านั้น
- ใช้สิทธิ์ซื้อสินค้าได้กับร้านอาหาร, เครื่องดื่ม, สินค้าทั่วไป กับร้านค้าเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง
- ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้กับสินค้าประเภทสลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และบริการ
- ต้องจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เท่านั้น โดยเราต้องเติมเงินเข้าแอปฯ เป๋าตัง ให้เรียบร้อยก่อนซื้อสินค้า จากนั้นนำไปสแกนกับแอปพลิเคชัน ถุงเงิน ของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง
ช้อปดีมีคืน
ใครใช้สิทธิ์ได้บ้าง ?
- ผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปีภาษี 2563
- ไม่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- ไม่ได้ลงทะเบียนร่วมโครงการคนละครึ่ง
ลงทะเบียนเมื่อไร ?
- มาตรการช้อปดีมีคืนไม่ต้องลงทะเบียน สามารถซื้อสินค้าและขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปมาเป็นหลักฐานในการยื่นแบบภาษีเงินได้ฯ เพื่อลดหย่อนภาษีได้เลย
- ใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563
สิทธิประโยชน์และเงื่อนไข
- สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ มาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุด 30,000 บาท
- ลดหย่อนภาษีได้เท่าไรขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละคนว่าต้องเสียภาษีขั้นไหน ดังนี้
- ต้องซื้อสินค้าและบริการจากร้านที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
- สามารถซื้อหนังสือ และสินค้าโอทอปที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว โดยมีใบเสร็จรับเงิน
- ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้กับสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ยาสูบ, สลากกินแบ่งรัฐบาล, ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ, ค่าที่พักในโรงแรม, ค่าบริการนำเที่ยว, ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ, ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร และค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
เลือกใช้สิทธิ์มาตรการไหนดี แบบไหนได้ผลประโยชน์สูงสุด?
คนละครึ่ง เหมาะกับใคร ?
- คนที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย ตลาด ร้านโชห่วย เป็นประจำ
- คนที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ฯ หรือมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี คือ มีรายได้รวมทั้งปีไม่เกิน 310,000 บาท หรือมีเงินเดือนเฉลี่ยไม่เกิน 25,833.33 บาท
- คนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี คือมีรายได้รวมทั้งปีเกิน 310,000 บาท แต่มีค่าลดหย่อนส่วนอื่น ๆ ที่ทำให้มีรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท จึงไม่ต้องเสียภาษีในปี 2563
- คนที่มีฐานภาษีไม่สูงมาก 5% หรือ 10% เนื่องจากการซื้อสินค้า 30,000 บาทใน “ช้อปดีมีคืน” นั้นคนที่มีฐานภาษี 5% จะได้ลดหย่อนภาษีเพียง 1,500 บาท
ช้อปดีมีคืน เหมาะกับใคร ?
- คนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี คือมีรายได้ทั้งปีเกิน 310,000 บาท และต้องการซื้อหนังสือ, สินค้า OTOP, ซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เกต ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้
- คนที่มีฐานภาษีอัตราสูง เนื่องจากจะได้รับส่วนลดจากการซื้อสินค้ามากกว่า เช่น หากซื้อสินค้า 30,000 บาท คนที่มีฐานภาษี 10% จะได้ลดหย่อนภาษีเพียง 3,000 บาท ในขณะที่คนมีฐานภาษี 30% จะได้ลดหย่อนภาษี 9,000 บาท ดังนั้นคนที่มีฐานภาษีไม่สูงมาก เช่น 5% หรือ 10% อาจยอมเลือกเสียภาษีตามปกติ แล้วลงทะเบียนมาตรการ “คนละครึ่ง” แทนได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมโครงการช้อปดีมีคืน เพื่อลดหย่อนภาษี ควรพิจารณาว่า เราจำเป็นต้องซื้อสินค้าเพื่อรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีมากน้อยแค่ไหน เพราะเราต้องจ่ายเงินเองเป็นจำนวนมาก หากตั้งใจจะซื้อสินค้ามูลค่าดังกล่าวนี้อยู่แล้ว ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ลดหย่อนภาษีไปในตัว แต่ถ้าไม่มีแผนจะใช้จ่ายเงินจำนวนนี้ ไปลงทะเบียนมาตรการ “คนละครึ่ง” เพื่อใช้ลดค่าจ่ายในชีวิตประจำวันจะดีกว่าครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
คนละครึ่ง.com, เฟซบุ๊ก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง : Fiscal Policy Office