แถบสีบนใบขับขี่ญี่ปุ่นคืออะไร

บทความLeave a Comment on แถบสีบนใบขับขี่ญี่ปุ่นคืออะไร

แถบสีบนใบขับขี่ญี่ปุ่นคืออะไร

ตอนที่เริ่มศึกษาเรื่องรถยนต์และใบขับขี่ของญี่ปุ่น ก็ยังไม่รู้รายละเอียดอะไรมาก จนต้องมาทำประกันรถยนต์หรือ 自動車保険 ตอนขอใบเสนอราคาจะมีช่องให้กรอกรายละเอียดต่างๆ เช่น รุ่นรถ ยี่ห้อ ประเภทรถ อายุรถยนต์ ลักษณะการขับขี่ etc. ซึ่งทั้งหมดจะดูรายละเอียดได้ใน 車検証 (Shakensho) หรือใบตรวจสภาพรถยนต์ และส่วนที่ไม่เกี่ยวกับรถยนต์ก็จะเกี่ยวข้องกับคนขับรถยนต์ และรายละเอียดเกี่ยวกับใบขับขี่ที่ถืออยู่ก็เป็นหนึ่งในนั้น พอโดนถามว่าใบขับขี่เป็นสีอะไร ซึ่งมีทั้งหมด 3 สีคือสีเขียว สีน้ำเงิน และสีทอง ก็เลยอยากรู้จนไปศึกษาว่าแต่ละสีต่างกันอย่างไรบ้าง

บทความนี้ก็เลยอยากมาแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับสีที่ปรากฎบนใบขับขี่กันค่ะ 

แต่ถ้าจะให้พูดถึงประเภทของใบขับขี่ที่นี่มีเยอะมาก เยอะจนไม่อยากจะเขียน 😂😂😂 เคยอ่านหนังสือตอนเตรียมตัวไปสอบใบขับขี่มาค่ะ

เอาง่ายๆและสั้นที่สุดคือถ้าอยากขับรถที่ญี่ปุ่นทำใบขับขี่แบบทั่วไป 普通免許 ก็พอแล้ว (จะเป็น AT หรือ MT ก็ได้) เพราะนอกจากจะขับรถยนต์ทั่วไปได้ที่น้ำหนักรถยนต์ไม่ถึง 3.5 ตัน บรรทุกไม่ถึง 2 ตัน คนนั่งไม่ถึง 10 คน และยังสามารถใช้เป็นใบอนุญาตขับขี่ 小型特殊自動車 หมายถึง รถแทรกเตอร์หรือ fork lift และ 原動機付自動車 จักรยานยนต์ทึ่ไม่เกิน 50cc ได้ด้วยค่ะ

เอาหล่ะ กลับมาพูดถึงแถบสีบนใบขับขี่กันดีกว่า

เริ่มต้นกันที่ สีเขียว

ใบขับขี่สีเขียวคือสีสำหรับคนที่เพิ่งได้ใบขับขี่เป็นครั้งแรก หรือ 新規運転者 จะมีอายุ 3 ปีโดยนับถึงวันเกิด(และ +1 เดือนให้เวลามาต่ออายุบัตร) เช่น ถ้าเกิดเดือน มิถุนายน สอบได้ใบขับขี่เดือน พฤษภาคม ใบขับขี่จะมีอายุ 2 ปี 1 เดือน+1 เดือน แต่ถ้าสอบได้ใบขับขี่เดือน กรกฎาคม ใบขับขี่จะมีอายุ 2 ปี 11 เดือน+1 เดือน เป็นต้น 

และถ้าไม่ใช่ชาวต่างชาติที่ขอเปลี่ยนใบขับขี่ต่างประเทศเป็นใบขับขี่ญี่ปุ่น อีก 1 อย่างที่ผู้ถือใบขับขี่สีเขียวต้องทำคือติดสัญลักษณ์มือใหม่หัดขับไว้ที่รถยนต์ทุกครั้งที่ขับรถด้วยค่ะ 

初心者マーク สัญลักษณ์มือใหม่หัดขับ

ต่อมาเป็นสีน้ำเงิน

สีน้ำเงินจะรวมไว้หลายกลุ่มคนคือ 1. คนที่เพิ่งต่อใบขับขี่ครั้งแรก 初回運転者 2. ผู้ขับขี่ทั่วไป 一般運転者 และ 3. ผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎจราจร 違反運転者

ซึ่งบัตรสีน้ำเงินนี้ก็จะมีอายุ 3 ปีเช่นเดียวกันกับสีเขียวค่ะ

และสีสุดท้ายสีทอง

สีทองคือผู้ขับขี่ชั้นดี 優良運転者 ผู้ที่ไม่เคยขับรถผิดกฎจราจรมาในระยะเวลา 5 ปีติดต่อกัน สำหรับคนที่ประวัติดีและได้รับการอัพเกรดบัตรเป็นสีทองจะขยายวันหมดอายุของบัตรให้ด้วยจาก 3 ปีเป็น 5 ปี (มีข้อยกเว้นสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 70 ปี อายุบัตรจะลดหลั่นลงมา เพื่อตรวจเช็คสภาพร่างกาย สายตาและความพร้อมของผู้ขับค่ะ)

นอกจากอายุของบัตรแล้วความแตกต่างอื่นๆยังมีอีกนะคะ คือ ชั่วโมงอบรมและค่าใช้จ่ายเวลาไปต่อใบขับขี่ (ส่วนค่าธรรมเนียมการออกบัตรเท่ากันหมดที่ ¥2,500 ค่ะ) โดยรายละเอียดแตกต่างกันตามนี้เลยค่ะ

ชั่วโมงอบรม (นาที)ค่าธรรมเนียมอบรม
ผู้ที่ต่อใบขับขี่ครั้งแรก 初回運転者120¥1,350
ผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎจราจร 違反運転者120¥1,350
ผู้ขับขี่ทั่วไป 一般運転者60¥800
ผู้ขับขี่ชั้นดี 優良運転者30¥500

นอกจากนี้แล้วข้อแตกต่างที่ดีเกี่ยวกับสีบนใบขับขี่อีก 1 เรื่องคือ เวลาทำประกันรถยนต์เบี้ยประกันจะถูกลงด้วยสำหรับใบขับขี่สีทอง ตอนเพิ่งมาแรกๆลองโทรไปสอบถามว่าถ้ายังถือใบขับขี่ระหว่างประเทศอยู่ เพราะอยู่ระหว่างการทำใบขับขี่ญี่ปุ่นรับทำประกันรถยนต์ไหม (เพราะพิจารณาจะซื้อรถยนต์อยู่) จะมีบริษัทรับทำไม่เยอะ และราคาสูงแบบน่าตกใจด้วยค่ะ จำได้ว่าเจ้าหน้าที่แจ้งเบี้ยประกันมาตกใจเลยคือปีละประมาณ ¥200,000 แต่พอสอบได้ใบขับขี่ญี่ปุ่นสีเขียว เบี้ยประกันลงมาเหลือประมาณ ¥50,000 และถ้าถือใบขับขี่สีทองเบี้ยประกันจะถูกลงไปถึงปีละประมาณ ¥30,000 เลยทีเดียวค่ะ (ราคาประเมินนี้ไม่รวมประกันเพิ่มเติม)

ความพยายามที่จะลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างเป็นรูปธรรมของกฎหมายญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษค่อนข้างแรง แต่รวมถึงจูงใจให้คนขับรถดีเพราะจะได้สิทธิประโยชน์จากการขับขี่ปลอดภัยและรักษากฎจราจรด้วยค่ะ

มันส์ต้องแชร์
สาวอักษรเอกจีน พูดเกาหลีที่ถนัดงาน event แต่สุดท้ายกลายมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกอยู่ที่ญี่ปุ่น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back To Top