จากที่ตอนแรกอยู่ที่อุซึโนะมิยะ ก็มองว่าจะให้ลูกเข้าโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด ตอนนั้นยังไม่ได้ศึกษาอะไรมาก รู้แต่ว่าที่ญี่ปุ่นมี 幼稚園 หรือโรงเรียนอนุบาล กับ 保育園 หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยเงื่อนไขของคนที่จะสมัครเข้าใช้บริการของทั้ง 2 ที่ต่างกัน คือ
จะสมัครเข้า 幼稚園 (โรงเรียนอนุบาล) เด็กจะต้องมีอายุครบ 3 ปีบริบูรณ์ภายในวันที่ 1 เมษายน ของปีการศึกษานั้นๆ กล่าวคือต้องเกิดระหว่าง 2 เมษายนปีก่อนเปิดเทอมถึง 1 เมษายนของวันเปิดเทอม เช่น จะเข้าศึกษาปีการศึกษา 2023 จะต้องเกิดระหว่าง 2 เมษายน 2019 – 1 เมษายน 2020 ฉะนั้นในคลาสจะมีเด็กช่วง 3-4 ปีเรียนอยู่ด้วยกัน ซึ่งวิธีการสมัครคือสามารถสมัครโดยตรงได้กับทางโรงเรียนเลย
ส่วน 保育園 หรือสถานรับเลี้ยงเด็กส่วนใหญ่จะรับเด็กไปดูแลได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงก่อนเข้าโรงเรียนประถม (หรืออายุไม่เกิน 6 ปี) โดยจะมีเงื่อนไขว่าจะต้องทำงานทั้งพ่อและแม่ไม่มีคนเลี้ยงลูกตอนกลางวัน หรือแม่จะไปหางานก็มีเงื่อนไขว่าจะต้องหางานให้ได้ภายใน 3 เดือน ซึ่งวิธีการสมัครจะต้องสมัครผ่านเขตปกครองตามที่อยู่อาศัย และค่าฝากเลี้ยงจะขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้ปกครอง นอกจากนี้แล้วถ้าอยู่ในพื้นที่ที่สถานรับเลี้ยงเด็กมีจำนวนไม่พอความต้องการ ทางเขตก็จะมีเกณฑ์ให้คะแนนเพื่อจัด priority ให้ครอบครัวที่มีความจำเป็นต่อการฝากเลี้ยงเด็กมากได้สิทธิฝากเลี้ยงเด็กไปก่อน
แต่พอต้องย้ายลงมาโตเกียวแล้วก็ใกล้เวลาสมัครเข้าโรงเรียนอนุบาลให้ลูกแล้ว ทีนี้เลยเหมือนเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์การแข่งขันเพื่อเข้าอนุบาลที่โตเกียวเป็นในเขตที่ย้ายเข้ามาอยู่เป็นยังไงบ้าง อ่านคู่มือเลี้ยงลูกของเขตที่ย้ายมาอยู่แล้วก็ต้องตกใจว่ามันมีรายละเอียดมากมายกว่าที่คิดอีกมาก 555
ลักษณะครอบครัว | เด็กอายุ 0-2 ปี | เด็กอายุ 3-5 ปี |
ไม่สามารถดูแลลูกได้เนื่องจากทำงานหรือป่วย | 認可保育園、 認定こども園、 家庭的保育、 東京都認証保育所、 など | 認可保育園、 認定こども園、 東京都認証保育所、 など |
ครอบครัวปกติที่สามารถเลี้ยงลูกเองด้วย | 一時預かり、 地域子育て支援拠点、 など | 幼稚園、 認定こども園、 一時預かり、 など |
ความแตกต่างของแต่ละโรงเรียน
สถานรับฝากเลี้ยงเด็กหรือ 保育園 (โฮอิคุเอ็น) จะมีหลายชื่อเรียก และแต่ละชื่อเรียกจะรับฝากหรือมีคอร์สให้เลือกแตกต่างกันออกไป หลักๆคือ ถ้ามีคำว่า 保育 คือจะรับฝากเลี้ยงแต่ไม่ได้เน้นสอนวิชาการความรู้อะไร (แต่ปัจจุบันนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองเริ่มมีความต้องการกันมากขึ้น สถานรับฝากเลี้ยงหลายแห่งเริ่มมีให้เลือกเรียนเสริมพิเศษเพิ่มเติมระหว่างวันได้) ส่วนใหญ่จะรับฝากตั้งแต่ 07:00-18:00 น. (บางทีอาจจะเริ่ม 08:00 น. หรือให้รับกลับได้ระหว่าง 17:00-19:00 น. ก็ได้ ซึ่งจะแล้วแต่นโยบายของ 保育 แต่ละที่)
ส่วนโรงเรียนอนุบาล 幼稚園 (โยจิเอ็น) คือจะเน้นรับเฉพาะครอบครัวที่อยากให้ลูกเข้ารับการศึกษาเพื่อปูพื้นเข้าโรงเรียนประถม ถ้าเป็นโรงเรียนรัฐมักจะไม่มีรับฝากหลังเลิกเรียน หรือเรียนเสริมพิเศษหลังเลิกเรียน ส่วนใหญ่จะเข้าเรียนประมาณ 09:00-13:30 น. อย่างโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยที่ลูกสาวได้เข้าเรียนคือจะเรียน 08:50-13:30 น. ต้องไปรับกลับตรงเวลา ทำอาหารกล่องไปให้ลูกเองทุกวัน ไม่มีเครื่องแบบนักเรียน (มีแค่หมวก ที่เหลือตามสะดวก) ไม่มีสอนพิเศษนอกเวลา ฯลฯ แต่ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชนก็จะมีทางเลือกให้ว่าจะฝากเลี้ยงหลักเลิกเรียนไหม จะเรียนพิเศษอะไรหลังเลิกเรียนไหม จะสั่งอาหารจากทางโรงเรียนให้เลือกไหม มีเครื่องแบบนักเรียน ฯลฯ
นอกจากนี้ก็จะมี 認定こども園 (นินเทโคโดโมะเอ็น) ที่ไม่แน่ใจว่าจะควรแปลเป็นภาษาไทยว่าอะไร เพราะว่าเป็นการรวมสถานรับเลี้ยงเด็ก 保育園 กับโรงเรียนอนุบาล 幼稚園 เข้าด้วยกัน โดยที่จะแยกเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 (อายุ 3-5 ปี) โรงเรียนสามารถเปิดรับสมัครเองได้แบบ 幼稚園 ได้, กลุ่มที่ 2 (อายุ 3-5 ปี) และ 3 (อายุ 0-2 ปี) ที่ต้องรับผ่านเขตแบบ 保育園
一時預かり (อิจิจิอซุคะริ) คือที่รับฝากเด็กชั่วคราว ซึ่งก็จะมีหลายแบบ ส่วนใหญ่จะต้องติดต่อขอจองคิวล่วงหน้า ค่าใช้จ่ายคิดเป็นรายชั่วโมง อันนี้ไม่เคยใช้บริการเหมือนกัน แต่พอจะได้ยินอยู่ เพราะพยายามจะบริหารจัดการกันเองระหว่างเรากับสามี ยิ่งช่วงโควิดที่ยังระบาดอยู่ก็ไม่ได้อยากจะเพิ่มความเสี่ยงให้ลูก
แถวบ้านต้องบอกว่า 保育園 เยอะกว่า 幼稚園 มาก น่าจะเพราะพ่อแม่ในโตเกียวส่วนใหญ่คือต้องทำงานกัน 2 คน แถมเงื่อนไขการสมัครเข้า 幼稚園 แถวบ้านแต่ละโรงเรียนรอบๆบ้านหลากหลายแตกต่างกันมาก เช่น บางโรงเรียนถ้าอยากให้ลูกเข้าจริงๆต้องส่งให้ลูกไปเข้ากิจกรรมทดลองเรียนตั้งแต่ครบ 2 ขวบ เพื่อให้ได้สิทธิ์สมัครเข้าเรียนจริงๆตอน 3 ขวบ ซึ่งช่วง 2 ขวบจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเต็มเองทั้งหมด ยังไม่ได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาล (มีแบบนี้ 3 ใน 5 ของโรงเรียนแถวบ้าน) แต่ถ้ายังไม่เต็มโควต้าที่รับได้คนที่ไม่ได้ส่งลูกไปตอน 2 ขวบก็สามารถลองไปเสี่ยงดวงสมัครดูได้ (มีค่าสมัครประมาณ 4,000-6,000 เยน) ถ้าเป็นโรงเรียนที่ไม่ค่อยดังมาก การแข่งขันน้อยก็จะเริ่มต้นจากไปฟัง 説明会 (บรรยายข้อมูลโรงเรียน), รับหรือซื้อใบสมัคร, ยื่นใบสมัคร, สอบสัมภาษณ์และทดสอบพัฒนาการเด็ก
ในเรื่องของค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่าย | โรงเรียนรัฐ | โรงเรียนเอกชน |
ค่าสมัคร | 1,600 เยน | 4,000 เยน |
ค่าแรกเข้า | 32,000-37,000 เยน | 60,000 – 90,000 เยน |
ค่าเรียน/เดือน | 6,100 เยน | 31,000 – 34,000 เยน |
ค่าหนังสือ/เดือน | 2,000 เยน | 4,000 เยน |
ค่าหนังสือนิทาน/ปี | 4,800 – 5,300 เยน | |
ค่า PTA/เดือน | 600 เยน | 300 – 500 เยน |
ค่าใช้จ่าย | โรงเรียนรัฐ | โรงเรียนเอกชน |
เสื้อผ้า เครื่องแบบ | แล้วแต่ผู้ปกครอง | ประมาณ 30,000 เยน |
อุปกรณ์การเรียนต่างๆ/ปี | 10,000 เยน | 10,000 – 12,000 เยน |
ค่าชุดกระเป๋าต่างๆที่ใช้ในโรงเรียน (จะเย็บเองหรือจะหาซื้อเองก็ได้) | 5,000 – 15,000 เยน | 5,000 – 15,000 เยน |
上履き รองเท้าใส่ในโรงเรียน | 500 เยน | 500 – 1,000 เยน |
ค่าใช้จ่ายอื่นๆนอกจากนี้ก็จะเป็นค่าชุดทางการเพื่อไปสอบ ค่าชุดทางการพิธีเปิดภาคการศึกษา เป็นต้น
ค่าใช้จ่ายที่สามารถเบิกคืนได้สำหรับโรงเรียนรัฐบาลคือ ค่าแรกเข้าและค่าเรียน ส่วนโรงเรียนเอกชนจะสามารถเบิกได้แค่ค่าเรียน เพราะว่ารัฐให้เบิกได้มากสุด 25,700 เยน/เดือน และบางเขตอาจจะมีเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมหรืออาจจะไม่มีก็ได้ ซึ่งเท่าที่เห็นมาส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนอนุบาลเอกชน โรงเรียนอนุบาลรัฐมีจำนวนน้อยมากและการสอบเข้าการแข่งขันค่อนข้างสูง เนื่องจากรับจำนวนน้อย
จากที่ลองคำนวณคร่าวๆจากค่าใช้จ่ายของโรงเรียนรอบๆบ้านในโตเกียวจะพบว่าค่าใช้จ่ายส่งลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล ถ้าเป็นโรงเรียนรัฐจะอยู่ประมาณ ปีละไม่เกิน 150,000 เยน แต่ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชนจะอยู่ที่ประมาณ 300,000-350,000 เยน/ปี
สำหรับครอบครัวที่อยากจะให้ลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลมีคำแนะนำ 2 แนวทางคือ
- เริ่มหาโรงเรียนอนุบาลที่สนใจตั้งแต่ลูกอายุ 1 ขวบ หากเจอโรงเรียนที่อยากเข้ามากๆมีคลาสสำหรับเด็ก 2 ขวบ สามารถลองส่งลูกไปเรียนเองตั้งแต่ 2 ขวบ เพื่อสำรองที่เรียนโรงเรียนนั้นไว้เลย ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะมีลงทะเบียนเข้าเรียนช่วง ตุลาคม-พฤศจิกายน ของปีก่อนที่จะเปิดการศึกษาในเดือนเมษายนปีถัดไป หรือบางโรงเรียนอาจจะมีให้สมัครเข้าไปทดลองเรียน 1-2 ชั่วโมง เป็นครั้งคราวได้
- หากมีเวลาจำกัดหรือไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้ลูกไปเรียนตั้งแต่ตอน 2 ขวบ ก็หาโรงเรียนตามปกติ แต่แนะนำว่าควรเริ่มไปเข้าร่วมฟัง 説明会 ได้ตั้งแต่ช่วงเดือน สิงหาคม-กันยายน โรงเรียนที่เปิดรับสมัครเร็วหน่อยจะเริ่มแจกใบสมัครตั้งแต่ช่วง 説明会 แต่หลายๆโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนเอกชนจะเริ่มแจกใบสมัครประมาณเดือนตุลาคม และยื่นใบสมัครต้นเดือนพฤศจิกายน คือถ้าหากสนใจจะให้ลูกเข้าอนุบาลก็จะเริ่มยุ่งๆตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน โรงเรียนเอกชนหลายๆโรงเรียนจะจัดยื่นใบสมัครกับสอบสัมภาษณ์ช่วงเดียวกัน หากสนใจโรงเรียนไหนเป็นพิเศษควรดูกำหนดการของปีการศึกษาเป็นแนวทางไว้ล่วงหน้า เพราะมักจะเป็นช่วงเดียวกัน เพื่อตัดสินใจว่าจะยื่นโรงเรียนไหนเป็นลำดับแรก (จากประสบการณ์ตัวเอง มองว่าสมัครแค่ 2 โรงเรียนก็พอ ยกเว้นว่าโรงเรียนที่สนใจที่สุดมีโอกาสได้น้อยมาก อาจจะลองดู 3 โรงเรียนก็ได้ แต่คือส่วนใหญ่ถ้าต้องการสมัครโรงเรียนไหน จะต้องเริ่มจากเข้าฟัง 説明会 ก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะไม่มีสิทธิ์ไปขอใบสมัครได้ค่ะ)