ตอนอยู่ไทยก็รู้แต่ว่าเวลาทำอาหารจะต้องใช้แก๊ส LPG หรือแก๊สหุงต้ม ที่ซื้อมาเป็นถังๆแล้วต่อเข้ากับเต้าแก๊สที่บ้าน แต่พอได้เรียน Minnano Nihongo บวกกับได้ย้ายมาอยู่ญี่ปุ่นก็ถึงรู้ว่าแก๊สของญี่ปุ่นใช้ทั้งทำอาหารและอุ่นน้ำร้อนในห้องน้ำ (ในปัจจุบันเริ่มมีบ้านที่ทำเป็นระบบไฟฟ้ามากขึ้นสำหรับเรื่องอุ่นน้ำ) ทำให้คนที่มาญี่ปุ่นใหม่ๆหลายคนที่ยังไม่เก่ง อาจจะพลาดไม่รู้ว่าต้องติดต่อบริษัทแก๊ส ガス会社 ด้วย เพื่อให้เข้ามาเปิดระบบหลังจากย้ายเข้าบ้านมา ไม่เช่นนั้นนอกจากจะทำอาหารไม่ได้แล้วน้ำที่จะใช้อาบก็จะไม่อุ่นด้วย ถ้าใครมาหน้าหนาวก็จะเข้าใจว่าน้ำเย็นมากขนาดไหน
สำหรับเรื่องแก๊สในญี่ปุ่นยังมีรายละเอียดมากกว่านั้นคือมี 2 ระบบ คือ 都市ガス (โทชิแก๊ส) หรือแก๊สที่ให้บริการโดยเขตที่อยู่อาศัย เป็น LNG นำส่งแก๊สผ่านระบบท่อ และอีกระบบนึงเรียกว่า プロパンガス (โพรเพนแก๊ส) หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนามของแก๊สหุงต้มหรือ LPG ซี่งวิธีการนำส่งแก๊สก็จะคล้ายๆของไทยคือส่งเป็นถัง แต่ที่นี่จะเป็นถังใหญ่ๆที่ติดตั้งไว้นอกตัวบ้านหรืออาคาร แล้วส่งผ่านท่อเข้าระบบมาใช้ในบ้านอีกที ไม่ได้เอามาต่อเข้ากับเตาแก๊สโดยตรงแบบของบ้านเรา
สำหรับข้อแตกต่างระหว่างโทชิแก๊ส และโพรเพนแก๊ส จากที่ศึกษามาสามารถสรุปคร่าวๆได้ประมาณนี้ค่ะ
หัวข้อ | โทชิแก๊ส | โพรเพนแก๊ส |
ชนิดของแก๊ส | ก๊าซธรรมชาติ LNG หรือ Liquefied Natural Gas | ก๊าซปิโตรเลียมเหลว Liquefied Petroleum Gas |
วิธีจ่ายแก๊ส | ผ่านท่อ | ถังแก๊ส |
พื้นที่ให้บริการ | เขตตัวเมือง | ทั่วประเทศ |
พลังงานความร้อน | 11,000kcal/㎥ (ให้ความร้อนต่ำกว่า LPG) | 24,000kcal/㎥ (ให้ความร้อนสูงกว่า LNG) |
ราคา | ถูกกว่า LPG | ราคาแพงกว่า LNG ประมาณ 1.7-1.8 เท่า |
อุปกรณ์ที่ใช้ได้ | กล่องเขียนว่า 都市ガス หรือ 12A, 13A | กล่องเขียนว่า LPガス |
สำคัญ ไม่สามารเอาอุปกรณ์ที่ใช้กับ LPG มาใช้กับ LNG ได้ ในทางกลับกันก็ไม่สามารถเอาอุปกรณ์ที่ใช้กับ LNG ไปใช้กับ LPG ได้ ฉะนั้นเวลาจะต้องซื้อเตาแก๊ส (หรือที่เรียกว่า ガスコンロ ในภาษาญี่ปุ่น) ต้องเช็คให้ดีว่าแก๊สบ้านที่เราอยู่เป็นระบบไหน
สำหรับวิธีการคำนวณราคาแก๊ส หลังจากที่ไปอ่านมาหลายเว็ปไซต์ เจอว่าเว็ปไซต์นี้เปรียบเทียบได้ดี https://selectra.jp/lpgas/guides/ryokin/toshigas-nedan-chigai คือเปรียบเทียบจากปริมาณความร้อนที่ได้แล้วคิดมาเป็นราคาเปรียบเทียบกัน เนื่องจากจะได้ความร้อนในปริมาณเท่ากันจะต้องใช้ LNG มากกว่า LPG
LPG 5㎥ | LNG 10.9㎥ | แตกต่าง |
4,667 เยน | 2,606 เยน | 2,061 เยน |
LPG 10㎥ | LNG 21.8㎥ | |
7,553 เยน | 4,426 เยน | 3,127 เยน |
LPG 20㎥ | LNG 43.6㎥ | |
13,239 เยน | 7,796 เยน | 5,443 เยน |
จากข้อมูลข้างต้น ทำให้หลายๆคนบอกว่าถ้าเลือกบ้านที่ใช้โทชิแก๊สค่าแก๊สจะถูกกว่า ทำให้หลายคนเวลาเลือกบ้านเช่าก็จะมองเรื่องบริษัทให้บริการแก๊ส น้ำ ไฟ ด้วย ถ้าเป็นบริการจากเขตที่อยู่อาศัยก็มักจะราคาถูกกว่าบริษัทเอกชนค่ะ