หลังจากย้ายเข้ามาอยู่โตเกียวไม่ถึงเดือนก็ต้องเริ่มมองหาโรงเรียนอนุบาลใกล้บ้านให้คุณลูก เพราะเด็กที่อายุครบ 3 ขวบบริบูรณ์ก่อนวันที่ 1 เมษายน ในปีถัดไป จะสามารถสมัครเข้าโรงเรียนอนุบาลหรือที่เรียกว่า 幼児園 ได้
幼稚園 と 保育園
ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่าการศึกษาก่อนเข้าโรงเรียนระดับประถมศึกษา ไม่ได้เป็นการศึกษาภาคบังคับ ฉะนั้นจะเข้าหรือไม่เข้าก็ได้ แต่ในฐานะที่เป็นครอบครัวคนต่างชาติในญี่ปุ่นก็มีความจำเป็นที่จะต้องให้ลูกเข้าอนุบาล เพื่อให้ได้ภาษาญี่ปุ่นในระดับที่สื่อสารได้ หากจะต้องเข้าศึกษาระดับประถมในโรงเรียนที่ญี่ปุ่น นอกจากนี้แล้วที่ญี่ปุ่นจะมีโรงเรียน 2 แบบสำหรับเด็กเล็กก่อนวัยเรียน คือ 保育園 หรือสถานรับฝากเลี้ยงเด็ก ซึ่งที่ไทยอาจจะเรียกว่า เนิร์สเซอรี และ 幼稚園 หรือโรงเรียนอนุบาลที่จะเหมือนกับ Kindergarten ในภาษาอังกฤษ โดย 保育園 จะสามารถฝากเด็กได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงก่อนเข้าโรงเรียนประถม โดยเงื่อนไขคือพ่อแม่ต้องทำงานทั้งคู่ ไม่สามารถเลี้ยงลูกเองได้ และค่าใช้จ่ายสำหรับการฝากเลี้ยงเด็กจะประเมินตามรายได้ของผู้ปกครองเด็ก ยิ่งรายได้มากยิ่งค่าฝากเลี้ยงแพง (จากที่เข้าใจมาคือระบบรับฝากเลี้ยงเด็กยังขาดคนอยู่มาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เลยต้องมีเงื่อนไขการทำงานและรายได้ผู้ปกครองเข้ามาด้วย บ้านไหนที่เลี้ยงลูกเองได้ก็อยากให้เลี้ยงเองไม่ต้องเอามาฝาก) ส่วน 幼稚園 นั้นจะเป็นเหมือนโรงเรียนเตรียมความพร้อมเด็กเข้าโรงเรียน ให้เด็กได้มามีเพื่อน ได้ฝึกเข้าสังคม มาเล่น มาเรียนรู้ คือเน้นเรียนรู้ผ่านการเล่นเป็นหลัก ทั้งนี้แต่ละโรงเรียนจะมีหลักสูตรแตกต่างกันไป
มองหาโรงเรียนอนุบาล
ตอนแรกที่เพิ่งย้ายลงมาที่โตเกียว คู่มือเลี้ยงลูกที่ได้มาจากเขตบอกว่าที่เขตมีแต่โรงเรียนอนุบาลเอกชนนะ ในพื้นที่เขตไม่มีโรงเรียนอนุบาลรัฐบาลเลย ซึ่งจะไม่เข้าเงื่อนไขเรียนฟรีของรัฐบาล แต่จะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเทอมบางส่วน แถวบ้านในระยะไม่เกิน 3 กิโลเมตรก็มีอยู่ประมาณ 5 โรงเรียนได้ แต่พอมาลองเสิร์จหาตำแหน่งโรงเรียนอนุบาลใน google พบว่ามีอีกโรงเรียนนึงที่ไม่ไกลจากบ้านมาก แต่อยู่คนละเขตกัน ขี่จักรยานไม่เกิน 10 นาที แถมเป็น 国立 หรือโรงเรียนรัฐ และเป็นโรงเรียนอนุบาลที่สังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยอีกที่ที่ไทยมักจะเรียกว่า “โรงเรียนสาธิต” (ต่อไปก็จะเรียนกว่า “โรงเรียนสาธิต”) โรงเรียนนี้บอกว่าเน้นให้เด็กเติบโตตามพัฒนาการของตัวเอง ไม่สอนวิชาการ เน้นเล่นเป็นหลัก พอเช็คว่าที่อยู่บ้านอยู่ในเขตพื้นที่ที่สมัครเข้ารับคัดเลือกได้ก็เลยสนใจ กลายเป็นสนใจกว่าโรงเรียนที่อยู่หลังบ้านห่างไป 300 เมตรไปเสียอีก แต่ด้วยข้อมูลในอินเตอร์เน็ตที่ขู่เราไว้ค่อนข้างมากว่าการสอบเข้า”โรงเรียนสาธิต” (โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านเรานั้น) การแข่งขันสูงมาก เพราะโรงเรียนรับน้อย (ปีการศึกษา 2022 รับ 60 คน พอมาปีการศึกษา 2023 เหลือรับ 50 คน) เราก็เลยไม่ได้ตั้งความหวังไว้มาก แค่อยากให้ลูกได้มีโอกาสไปลองสอบ ไปมีประสบการณ์การสอบ การเข้าสังคมกับเด็กๆรุ่นเดียวกันมากกว่า
มาถึงขั้นตอนการเตรียมสมัครเข้า “โรงเรียนสาธิต”
- เข้าฟัง 説明会 หรือ บรรยายเกี่ยวกับโรงเรียนและวิธีการคัดเลือก พร้อมรับใบสมัคร
- พาลูกไปเล่นที่โรงเรียนในวันที่โรงเรียนเปิดให้เข้าไปใช้พื้นที่ได้ 開園日
- ชำระค่าธรรมเนียม (1,600 เยน + ค่าธรรมเนียมอีกเป็นจ่ายจริงๆประมาณ 2,100 เยน) กรอกเอกสารใบสมัครต่างๆ และนำไปยื่นสมัครภายในวันที่กำหนด เพื่อให้ได้ 受付番号 หรือเลขที่รับลงทะเบียน
- ไปจับฉลากเพื่อแยกกลุ่มเข้ารับการคัดเลือก (抽選)
- ไปสอบคัดเลือก โดยจะสัมภาษณ์ผู้ปกครองต่างหาก และให้ลูกอยู่เล่นกับเพื่อนๆเพื่อสังเกตพฤติกรรม
- ประกาศผลสอบคัดเลือก หากผ่านการคัดเลือกก็เข้าฟัง 合格者保護者会 หรือ ประชุมผู้ปกครองของเด็กที่ผ่านการคัดเลือก
- ชำระค่าแรกเข้าและค่าเทอม (รวมค่าธรรมเนียมการโอนแล้วประมาณ 70,000 เยน) กรอกเอกสารสัญญา แบบสำรวจสุขภาพ และนำไปยื่นยืนยันสิทธิ์ภายในวันที่กำหนด
- หลังจากนี้ก็รอการติดต่อจากทางโรงเรียนสำหรับขั้นตอนถัดไป…
สิ่งที่น่าสนใจคือวิธีการจับฉลากและวิธีการสอบคัดเลือกของที่นี่
วิธีจับฉลาก
โดยวิธีจับฉลากคือมีแผ่นพลาสติกตัวเลขวางเรียงอยู่บนโต๊ะ เช่น มีคนมาร่วมคัดเลือก 68 คน จะมีตัวเลขวางอยู่ 69 เลข ให้ผู้ปกครองที่มารวมแล้วนั่งอยู่แถวหน้าสุดเป็นตัวแทนไปตรวจว่าตัวเลขครบไม่มีปัญหา แล้วทีมอาจารย์จะมาคว่ำป้ายลง พร้อมกับละเลงให้เลขสลับอยู่บนโต๊ะ แล้วเชิญให้ผู้ปกครองแต่ละคนเดินไปจับเลขตามลำดับที่มายื่นใบสมัคร พอทุกคนจับครบแล้ว จะไปดูเลขที่เหลืออยู่บนโต๊ะ เช่น เหลือเลข 10 อยู่ ก็จะตัดกลุ่มที่ 1 เริ่มจากเลข 11-44 เป็นกลุ่มที่เข้าสัมภาษณ์กลุ่มแรก แล้วกลุ่มที่ 2 คือ 45-69 กับ 1-9 เป็นกลุ่มที่ 2
เป็นวิธีจับฉลากที่เรารู้สึกว่าเป็นวิธีคิดที่น่าสนใจมาก เพราะทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการกำหนดผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดจากการจับฉลากของทุกคน
วิธีสอบคัดเลือก
ส่วนวิธีสอบคัดเลือกคือให้ผู้ปกครองและเด็กลงทะเบียนพร้อมกันใน Hall ใหญ่ของโรงเรียน แบ่งผู้ปกครองออกเป็น 4 กลุ่ม (แบ่งด้วยป้ายเป็น 4 สี) โดยให้แขวนป้ายเลขที่ที่จับฉลากได้วันก่อนและติดชื่อเด็กพร้อมเลขที่ไว้ที่ด้านหลังของเด็ก มีที่นั่งให้ผู้ปกครองแต่ละกลุ่มรอบ Hall และมีของเล่นเด็กเป็น station อยู่กลาง Hall ของเล่นเด็กคือ
- station ทำอาหาร เตาของเล่น อ่างล้างจานของเล่น พร้อมอุปกรณ์ทำครัว กินอาหาร โต๊ะกินข้าวพร้อมที่นั่ง
- station สำหรับวาดเขียน มีโต๊ะ เก้าอี้ กระดาษ พร้อมสีเทียนพร้อมให้เด็กได้ไปนั่งขีดเขียนตามอัธยาศัย
- station อ่านนิทาน ชั้นหนังสือนิทานวางไว้ พร้อมกับปูพื้นที่นั่ง มีอาจารย์อ่านให้เด็กๆฟัง
- มีพื้นที่ให้เด็กวิ่งเล่น กระโดดได้ ปีนได้
- (ผ่านไปเกือบชั่วโมง อาจารย์เห็นเด็กๆบางคนเริ่มเบื่อ เลยไปยกตะกร้ารางรถไฟกับรถไฟ แล้วก็ตัวต่อมาเพิ่มให้อีก เด็กๆวิ่งมาเล่นกันใหญ่)
โดยในแต่ละ station จะมีอาจารย์เข้าไปประกบดูแลเด็กแต่ละกลุ่ม เหมือนอยู่ในห้องเรียน ส่วนอาจารย์ที่เป็นคนสังเกตพฤติกรรมเด็กจะยืนอยู่รอบนอก ไม่มีเข้าไปถามเด็กหรือเข้าไปหาเด็กๆเลย คือยืนสังเกตและจดบันทึกอย่างเดียว โดยเด็กๆจะอยู่เล่นเองหรือจะวิ่งออกมาหาผู้ปกครองก็ได้ ถ้าเด็กยังติดพ่อหรือแม่อยู่ก็สามารถพาลูกเข้าไปนั่งในห้องสัมภาษณ์ได้ด้วยเช่นกัน คือทุกขั้นตอนจะไม่บังคับเด็กเลย เด็กจะอยู่เล่นเองได้แบบไม่มีพ่อแม่ก็ได้ หรือจะร้องไห้ขอติดสอยห้อยตามพ่อแม่ไปห้องสัมภาษณ์ก็ได้ ซึ่งระหว่างที่ปล่อยให้เด็กๆเล่นอยู่นั้น อาจารย์ก็จะทยอยเรียกผู้ปกครองไปรอสัมภาษณ์ด้านนอกที่ละ 4 คน ขั้นตอนการสอบจะเสร็จลงเมื่อผู้ปกครองทุกคนเข้าสัมภาษณ์เสร็จแล้ว ก็จะประกาศให้เด็กๆเก็บของเข้าที่ เหมือนเตรียมเลิกเรียนกลับบ้าน แล้วก็เปิดเพลงชวนเด็กๆเต้นก่อนปล่อยกลับบ้าน (ซึ่งลูกสาวชั้น เดินกลับมาแล้วขอนั่งเก้าอี้แม่ พร้อมกับบอกว่า เหนื่อย ชวนเต้นก็ไม่เต้น เพลงโปรดก็ไม่เต้น 555 ท่าทางนางจะเล่นสนุกมากทีเดียว เล่นแบบแทบไม่สนใจแม่เลย)
สอบสัมภาษณ์
สำหรับคำถามสัมภาษณ์ผู้ปกครอง ไม่แน่ใจว่าจะถามเหมือนกันทุกคนไหม เพราะตอนกรอกใบสมัครจะมีพาร์ทที่ให้ผู้ปกครองเขียนเหตุผลว่าทำไมถึงอยากให้เข้าโรงเรียนนี้ กับแนวทางการเลี้ยงลูกของผู้ปกครอง รวมถึงถ้ามีอะไรอยากจะบอกอาจารย์เป็นพิเศษก็ให้กรอกลงไปด้วย อย่างของเราก็จะเขียนไปประมาณว่า “เรามองว่าตอนนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราอยากให้ลูกสามารถคิดและหาสิ่งที่ตัวเองชอบ สิ่งที่ตัวเองอยากทำเอง ซึ่งก็ตรงกับที่โรงเรียนเคยพูดไว้ว่าเด็กแต่ละคนมีศักยภาพที่ซ่อนอยู่แตกต่างกันไป โรงเรียนจะปล่อยให้เด็กเติบโตตามพัฒนาการของเด็กแต่ละคน พร้อมกับค้นหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่นั้นไปด้วย และตัวเราเองก็เคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่โรงเรียนสาธิตจุฬา แผนกประถม ก็เลยเชื่อมั่นในแนวทางการสอนของ”โรงเรียนสาธิต” แถมที่”โรงเรียนสาธิต”นี้ยังมีอาจารย์ที่พูดภาษาอังกฤษได้ ทำให้เรารู้สึกอุ่นใจขึ้นไปอีก“
ส่วนแนวทางการเลี้ยงลูกก็เขียนคร่าวๆว่า “เราค่อนข้างปล่อยให้ลูกเติบโตอย่างอิสระ ปล่อยให้ได้เล่น ให้ได้คิด ให้ได้เลือกทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ภายใต้ขอบเขตที่ตัวเองและคนรอบข้างปลอดภัย เช่น ให้ช่วยเลือกซื้อของใช้ของตัวเองตั้งแต่เล็กๆ ฟังความต้องการของลูกแล้วช่วยกันหาคำตอบหรือประดิษฐ์ของเล่นขึ้นมาเล่นด้วยกัน เป็นต้น“
แล้วก็เขียนบอกไปด้วยว่าภาษาแม่ของเด็กคือภาษาไทย เพราะพ่อแม่เป็นคนไทยใช้ภาษาไทยกับลูกตลอด ไม่ได้สอนภาษาญี่ปุ่นลูกเลย แต่ให้ลูกได้ยินภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจำวันเอง
คำถามที่โดนถามวันสัมภาษณ์
- มีคำแนะนำด้านสุขภาพและพัฒนาการเด็กจากที่ไปตรวจสุขภาพตอน 1 ขวบ 6 เดือนไหม
- ได้ส่งลูกเข้าไปฝึกทักษะทางด้านกีฬาเป็นพิเศษไหม
- ลูกได้เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกันหรือเด็กคนอื่นบ้างไหม
- พ่อแม่เป็นคนไทยใช้ภาษาไทยกับลูกอ่าน คือแต่นิทานภาษาไทยให้ลูกฟังหรือไม่
- รู้จักโรงเรียนได้ยังไง
- เคยอ่านเวปโรงเรียนไหม
- คาดหวังอะไรจากโรงเรียน
- มีเรื่องอะไรที่ค่อนข้างเป็นกังวลหรือไม่
ซึ่งก็ตอบทุกอย่างไปตามจริง (คิดว่าคงฟังคำถามไม่ผิดอะนะ 555)
พอวันถัดมาก็ให้ผู้ปกครองทุกคนมาดูประกาศที่บอร์ดในโรงเรียน โดยจะไม่รับแจ้งผลทางโทรศัพท์ไม่ว่ากรณีใดๆ โดยถ้าสอบผ่านก็ให้ไปลงทะเบียนและเข้าประชุมต่อเลย
วันประกาศผลเป็นวันที่ตื่นเต้นที่สุด เพราะต้องไปดูเองที่บอร์ดโรงเรียน โดยการรักษา privacy ของนักเรียนและผู้ปกครองทุกคนคือประกาศโดยใช้เลข 受付番号 หรือเลขที่มายื่นเอกสารสมัครเรียน แต่วันที่สอบสัมภาษณ์คือใช้เลขที่จับฉลากได้เรียกผู้ปกครองและเด็ก คือคนที่ไปสัมภาษณ์พร้อมๆกัน ได้นั่งคุยกันบ้างจะไม่รู้เลยว่าเค้าสอบผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะว่าเลข mixed กันหมด
ตอนที่รู้ว่าสอบผ่านยังแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง เพราะไม่คิดว่าจะได้ส่งลูกเข้า “โรงเรียนสาธิต” ที่ญี่ปุ่น แค่ประสบการณ์การเตรียมตัวไปสอบคัดเลือกก็หลายขั้นตอนมากแล้ว เดี๋ยวก่อนเข้าโรงเรียนและจนกว่าจะเรียนจบคงมีเรื่องราวให้ได้เรียนรู้ไปด้วยกันกับลูกอีกมากมาย
ปล. ขั้นตอนที่ 4-7 เกิดขึ้นเร็วมากคือ เรียงกันตามวันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส กันไปเลยค่ะ 4 days in row
ปล2. พอสอบผ่านปุ๊บ แม่ก็ได้ assignment เตรียมอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ที่โรงเรียนมา 3 หน้า A4 ไปเลยค่ะ
ปล3. โรงเรียนนี้ให้ทำข้าวกล่องให้ลูกเองทุกวันนนนนน