ฝากครรภ์กับโรงพยาบาลในญี่ปุ่น (ก่อน Covid-19)

LifestyleLeave a Comment on ฝากครรภ์กับโรงพยาบาลในญี่ปุ่น (ก่อน Covid-19)

ฝากครรภ์กับโรงพยาบาลในญี่ปุ่น (ก่อน Covid-19)

เรื่องราวต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนที่ Covid-19 หรือ 新型コロナウイルス จะแพร่ระบาดในญี่ปุ่น

คนไทยที่คุ้นเคยกับโรงพยาบาลที่เปิดทำการตลอด 24 ชม. ป่วยเมื่อไหร่ก็ไปโรงพยาบาลได้ ป่วยเช้าไปเช้า ป่วยบ่ายไปบ่าย ป่วยดึกไปดึกได้แต่เจอหมอเวรก็แล้วแต่ดวงไปอะไรแบบนั้น แต่ที่ญี่ปุ่นไม่เหมือนเมืองไทย โรงพยาบาลหรือ 病院 (ที่ไม่ใช่คลินิก 医院) มีเวลาทำการชัดเจน และไม่สามารถจะเดินสุ่มสี่สุ่มห้าเข้าไปในโรงพยาบาลได้ตลอดเวลา ถ้าไม่ใช่ ER หรือเป็นคนไข้ที่ลงทะเบียนกับโรงพยาบาลไว้แล้ว ซึ่งนอกเวลาทำการก็จะมีแค่ประตู ER ที่ยังสามารถเข้าออกได้หลังจากที่อ่านคู่มือ 健康づくりのしおい ที่ขอให้เจ้าหน้าที่ที่เขตแนะนำสถานพยาบาลที่เหมาะกับชาวต่างชาติหรือสามารถรับมือกับชาวต่างชาติได้มาด้วย เจ้าหน้าที่ก็ลงมือ highlight ชื่อสถานพยาบาลมาให้ประมาณ 8-10 แห่ง มีทั้งที่เป็นโรงพยาบาลและเป็นคลินิก ด้วยความที่เราเป็นคนไทย เราชินกับการไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลมากกว่าไปคลินิก สุดท้ายเราก็เลยตัดสินใจเลือกโรงพยาบาลที่ดูไม่ไกลจากบ้านมากและจากที่หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตแล้วรู้สึกโอเคกับทั้งชื่อและภาพลักษณ์ของโรงพยาบาล (ใช้ใจล้วนๆ 555 ชอบชื่อนี้มาตั้งแต่เจ้าหน้าที่ขีด highlight ให้แล้ว)

จริงๆวันที่ไปเขตมีความตั้งใจว่าหลังจากเสร็จจากเขตก็จะไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเลย แต่ปรากฎว่าไม่ได้ค่าาาาาาาา ด้วยเหตุผลว่าโรงพยาบาลมีช่วงเวลารับลงทะเบียนคนไข้ใหม่ภายในครึ่งเช้าเท่านั้น ส่วนใหญ่ไม่เกิน 11 โมงเช้า ซึ่งแค่ไปเขตก็หมดเวลาครึ่งเช้าของวันไปแล้ว หึหึหึ ก็ใครจะไปรู้ล่ะ ว่าจะสมัครเป็นคนป่วยที่นี่ต้องเป็นเวลา 555 และที่สำคัญเลยคือโรงพยาบาลปิดทำการวันเสาร์-อาทิตย์นะคะ ก็เลยต้องให้แฟนโทรไปเช็คว่าถ้าเราจะไปฝากครรภ์ที่นั่นเราจะต้องทำยังไงบ้าง

สรุปว่าโรงพยาบาลที่หมายตาไว้เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่สามารถใช้คูปองจากเขตและใช้ประกันสุขภาพ (ประกันสังคม) ได้ รับลงทะเบียน (ใจอยากจะเรียกว่ารับสมัครด้วยซ้ำ 555) คนไข้ใหม่ทุกวันทำการจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 08:00-11:00 น. ซึ่งมีค่าสมัคร(?) หรือจะเรียกว่าค่าธรรมเนียมก็ได้ ¥5,000

ไปถึงโรงพยาบาลน่าจะประมาณ 8 โมงกว่าๆ ตรงจุดรับลงทะเบียนคนไข้ใหม่ก็มากมายอยู่ เอกสารทุกอย่างเป็นภาษาญี่ปุ่น ด่านแรกข้อมูลทั่วไป สอบถามอาการ แล้วส่งไปส่วนคัดกรองแยกส่งไปแต่ละแผนก สอบถามประวัติสุขภาพโดยละเอียด (ละเอียดกว่าเขตอีก 1 เลเวล) และไม่มีภาษาอังกฤษเลย (นี่ก็เอาตัวรอดมาได้ด้วยคันจิล้วนๆ ชื่อโรคส่วนใหญ่เหมือนภาษาจีน อ่านแล้วรู้เลยว่าคือโรคอะไร แต่ออกเสียงแบบญี่ปุ่นไม่ได้นะ) แต่เอาเถอะ กรอกจนเสร็จอะ (ตอนแรกเจ้าหน้าที่มาถามนะ ว่ากรอกได้ไหม เลยถามว่าถ้ากรอกไม่ได้จะมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษให้เหรอ นางก็บอกว่าไม่มี เอิ่ม… แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม?????)

พอกรอกเสร็จก็ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ต่อ เอาง่ายๆแค่บอกว่าตอนนี้กิน Calcium กับ Multi-Vitamin อยู่ นางก็ไม่เข้าใจถ้าไม่ออกเสียงว่า カルシウム (คารุชีอุมุ) กับ マルチビタミン (มารุฉิบิทะมิน) พวกนางก็จะถามอยู่นั่นแหละว่ากินไรอยู่นะคะ 😭😭😭

จนสุดท้ายในที่สุดหมวกคัดสรร เอ้ย เจ้าหน้าที่ก็ยอมส่งตัวเราไปแผนกหญิงตั้งครรภ์ 産婦人科 ขึ้นไปถึงก็ไปลงทะเบียนที่แผนกอีกที แล้วเข้าไปนั่งรอในนั้นก็จะมีแต่คนท้องอย่างเดียว (ไม่ใช่อารมณ์แผนกสูติคือแผนกคนท้องล้วนๆ) พอเป็นคนท้องใหม่ที่เข้าไปฝากครรภ์ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้แฟ้มประวัติเบื้องต้นเราไปแล้วอ่านแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะออกมาบรีฟเรา มาถามเราว่าตัดสินใจจะคลอดที่โรงพยาบาลเราไหมคะ พร้อมด้วยซองแพ็กเกจข้อมูลการฝากครรภ์และคลอดที่โรงพยาบาล หลักๆประกอบไปด้วย หนังสือแนะนำการเป็นคนไข้โรงพยาบาล, หนังสือแนะนำการมาคลอดที่โรงพยาบาลและ Facility โรงพยาบาล, หนังสือคู่มือการเป็นคนท้องและการเลี้ยงลูก, เอกสารที่ต้องกรอกเพื่อเข้า admit มาคลอดที่โรงพยาบาล อาทิ ข้อมูลคนไข้ หนังสือยินยอมให้รักษา แบบสอบถามยืนยันประวัติสุขภาพ อาการแพ้ต่างๆ(เพื่อป้องการโรงพยาบาลโดนฟ้อง) พอใกล้ๆคลอดก็จะมีเอกสารมาเพิ่มอีก เช่น หนังสือยินยอมให้ตัดและเย็บช่องคลอดหากระหว่างคลอดธรรมชาติแล้วพิจารณาว่าจำเป็น(นี่ก็กลัวโดนคนไข้ฟ้องอีกเช่นกัน 😅) หนังสือยินยอมให้ตรวจสุขภาพลูกแรกคลอด เป็นต้น กรอกเอกสารเตรียมใส่แฟ้มกันไว้เลยค่ะ เพราะคิดว่าถ้าเจ็บท้องจะคลอดแล้วค่อยมากรอกคงจะไม่ทันเนอะ ซึ่งหลังจากที่ผ่านการลงทะเบียนจนกว่าจะได้พบหมอและจ่ายเงินเรียบร้อยในครั้งแรกกว่าจะได้ออกจากโรงพยาบาลก็เกือบบ่ายโมง

เกี่ยวกับความถี่ของการนัดตรวจครรภ์ โดยช่วงท้องไตรมาสแรกถึงไตรมาสที่สองจะนัดตรวจครรภ์ทุกๆ 4 สัปดาห์ (สมมติว่าถ้ามาหาครั้งแรกวันอังคาร ก็นับไปเลยอีก 4 สัปดาห์ก็ลงวันอังคารพอดี จะเป็นวันอังคารไปเรื่อยๆจนกว่าจะคลอด) แล้วถ้าอ่านหนังสือคู่มือคนท้องและการเลี้ยงลูกที่โรงพยาบาลให้ไปก็จะพอทราบคร่าวๆว่าแต่ละครั้งที่มาจะโดนอะไรบ้าง เช่น มีอัลตราซาวด์ใหญ่ตอนวีคที่เท่าไหร่บ้าง มีตรวจเลือด ตรวจเบาหวาน ตรวจภายใน ตรวจเชื้อในช่องคลอด บลาๆๆๆ ตอนไหนบ้าง ส่วนใหญ่หมอจะบอกแค่ว่ามีอัลตราซาวด์นะ เพราะว่าต้องจองแผนกอัลตราซาวด์ (ข้ามแผนก) แต่พวกตรวจเลือด ตรวจเบาหวานอะไรแบบนี้คือไม่ได้บอกก่อนอะ 555 เช่น วันนึงพยาบาลก็ยื่นขวดน้ำหวานมาแล้วบอกว่ากินนะแล้วอีก 1 ชม.ลงไปเจาะเลือดตรวจคัดกรองเบาหวาน พร้อมใบส่งตัวไปตรวจเลือด ฮือออ คืออะไรที่ทำในแผนกได้เลยจะไม่ได้แจ้งไว้ก่อน (ก็บอกให้ไปอ่านคู่มือแล้วไง 555)

สำหรับขั้นตอนการเข้าพบหมอฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลนี้คือ

  1. ไปปริ้นท์ใบนัดที่ตู้อัตโนมัติใส่แฟ้มให้เรียบร้อย
  2. ถ้าอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไปจะมีใบให้ไปตรวจปัสสาวะก่อน (ตรวจโปรตีน/น้ำตาล)
  3. ไปที่แผนกหญิงตั้งครรภ์ลงทะเบียน แล้วชั่งน้ำหนักกับวัดความดันที่เครื่องเอง แล้วจดลงคู่มือแม่ลูกให้พยาบาลแล้วรอเรียกคิว
  4. จะมีพยาบาลเรียกเข้าไปห้องตรวจวัด (計測室) ก็จะวัดรอบหน้าท้อง วัดความสูงของมดลูก ฟังเสียงหัวใจลูก บางครั้งก็จะมีอัลตราซาวด์ดูตำแหน่งเด็กในครรภ์คร่าวๆ กับในบางครั้งที่มีตรวจภายใน(内診、診察室)ก็จะเรียกเข้าไปในห้องตรวจที่มีเครื่องอัลตราซาวด์สำหรับตรวจภายใน
  5. หลังจากเก็บข้อมูลทุกอย่างเรียบร้อยแล้วถึงจะเรียกให้ไปคุยกับแพทย์ได้ ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติหรืออะไรที่จะต้องพูดคุยเป็นพิเศษ หมอก็จะลงวันนัดครั้งถัดไปแล้วปล่อยกลับบ้าน แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ อาทิ น้ำหนักแม่พุ่ง มีความเสี่ยงอะไรใดๆ หรือมีเรื่องต้องบรีฟเพิ่มเติม ก็จะบอกให้รอแล้วจะมีพยาบาลมาเรียกเข้าไปคุยอีกห้องหนึ่งก่อนปล่อยกลับบ้าน
  6. กลับไปจุดลงทะเบียนของแผนกอีกครั้งเพื่อให้สรุปใบค่าใช้จ่าย
  7. ลงไปติดต่อออกใบค่ารายละเอียดค่าใช้จ่ายและจ่ายเงิน เป็นอันเสร็จพิธี

แล้วพอเข้าไตรมาสสุดท้าย (ประมาณตั้งแต่วีคที่ 28) คุณหมอก็จะเริ่มเปลี่ยนเป็นนัดทุก 2 สัปดาห์ และพอเข้าเดือนสุดท้าย 臨月 (วีคที่ 37-40) ก็จะนัดตรวจทุกอาทิตย์ในส่วนของการคลอดที่โรงพยาบาลนี้นั้น… ไว้รอไปคลอดก่อนค่อยมาเขียนน่าจะดีกว่า 😂😂😂

ตอนนี้ถูกบรีฟมาแค่ว่าก่อนจะมาคลอดต้องโทรแจ้งอาการกับโรงพยาบาลก่อน เงื่อนไขหลักคือจะโทรได้หลังจากเจ็บท้องคลอดต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ชม. (ถ้าไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นน้ำเดิน, เลือดออก, ลูกไม่ดิ้น, ปวดท้องผิดปกติหรือท้องแข็ง บลาๆๆๆ) นอกจากนั้นรู้แค่ว่าโรงพยาบาลปิดปีใหม่นะคะ 29 ธันวา – 3 มกรา และจะกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง 4 มกรา 2020 นะคะ ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรงข้ามปี ไม่เจ็บไม่ไข้นะคะ (เพราะโรงพยาบาลปิด 😝)

ฝากครรภ์กับโรงพยาบาลในญี่ปุ่น

บทความต่อเนื่อง : ประสบการณ์การคลอดลูกที่ญี่ปุ่น (PART 1)

มันส์ต้องแชร์
สาวอักษรเอกจีน พูดเกาหลีที่ถนัดงาน event แต่สุดท้ายกลายมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกอยู่ที่ญี่ปุ่น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back To Top