บทความนี้ เราไม่ได้มาในฐานะผู้เขียน เหมือนบทความก่อนๆหน้านะคะ แต่เราจะเอาเรื่องเล่าสั้นๆ ของพ่อเราผู้ที่เกษียณอายุราชการมาเรียบร้อยแล้ว แต่อยากจะถ่ายทอดประสบการณ์มุมมอง มาให้อ่านกันค่ะ ประเดิมเรื่องเล่าจากพ่อครั้งแรกสุด เราตั้งชื่อตอนว่า เด็กชายประจวบ เขาคือใครหนอ เราไปตามอ่านกันได้เลยค่ะ
วิศวกรสร้างคน ครูคือผู้สร้าง สิ่งที่ครูสร้างคือเด็ก มีประสบการณ์เป็นครู และผู้บริหารสถานศึกษามาร่วม 37 ปี มีเรื่องมากมายที่จดจำ ครูสมัยก่อนใช้ไม้เรียวสร้างเด็ก บางครั้งลงโทษเด็กโดยไม่หาต้นเหตุที่ลงโทษเด็ก คิดแต่ว่าอยากให้เด็กได้ดี ต้องทำงาน ต้องขยัน ต้องทำการบ้าน ต้องทำงานที่มอบหมายให้ไปปฏิบัติ เมื่อเด็กไม่ทำ ต้องลงโทษ การลงโทษคือความปรารถนาให้เด็กเป็นคนดีในอนาคต เจอเหตุการณ์หนึ่ง ดช.ประจวบไม่เคยทำการบ้าน มาโรงเรียนสายทุกวัน มานั่งฟุบหลับไปกับโต๊ะเรียน เป็นเช่นนี้ทุกวัน ครูก็โกรธ ดช.ประจวบทุกวัน ลงโทษเฆี่ยนด้วยไม้เรียว โดยไม่ถาม ไม่สืบเสาะหาเหตุที่ดช.ประจวบเป็นเช่นนี้ ดช.ประจวบก็ไม่พูด ไม่แก้ตัว ยอมโดนตีทุกวัน วันหนึ่งครูนั่งรถเมล์ผ่านไปทางสะพานพระปิ่นเกล้าฯ เห็นเด็กคนหนึ่งนอนพาดเหยียดยาวอยู่ที่เก้าอี้นั่งสำหรับรอรถเมล์ มองไป ดช.ประจวบนอนอยู่ตรงป้ายรถเมล์ กำลังตะลึงงัน รถเมล์ก็พุ่งออกไปข้ามสะพานพระปิ่นเกล้าฯ ยังจำไม่ลืมจนปัจจุบัน ตั้งแต่นั้นมา วางไม้เรียวไม่ตีเด็ก แต่จะหาสาเหตุที่เกิดว่าเด็กมีปัญหาอะไร แก้ไขปัญหา ปัญหาที่สำคัญมากๆ พ่อกับแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ต้องหาเช้ากินค่ำ ปล่อยลูกอยู่คนเดียว เด็กจึงเกิดปัญหามากมาย ฝากคนเป็นพ่อแม่ ครู หรือผู้รับผิดชอบด้านการศึกษาด้วยครับ
เป็นยังไงกันบ้างกับชีวิตของเด็กชายประจวบคะ เพียงแค่ฉากจากประสบการณ์เป็นฉากเดียว ก็แสดงถึงสถานะความเป็นอยู่ที่ยากลำบากแล้ว ส่วนตัวเราไม่ค่อยเห็นด้วยกับ ตรรกะไม่เรียวสร้างคนสักเท่าไหร่ เราไม่ว่าจะฐานะไหน ความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไร สามารถคุย อธิบายกันได้ด้วยเหตุผลทั้งนั้น ผู้อ่านมีความคิดเห็นกันว่าอย่างไรกันบ้างคะ…
ถ้าครูทุกคน หรือหลายคน สามารถหาเหตุผล หาสาเหตุและช่วยแก้ปัญหาที่เด็กทำผิดซ้ำๆได้ ก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในสังคม และสามารถสร้างคนให้เป็นคนดีได้อีก 1 คน และอีกหลายๆ คนค่ะ